สธ.ยืนยันโควิด-19 ตรวจรักษาฟรี รพ.ทุกสังกัด เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพประชาชนทุกคน

สธ.ยืนยัน! คนไทยทุกคนทุกสิทธิตรวจรักษาโควิดฟรีทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ห้ามเรียกเก็บเงินจากประชาชน ด้าน สบส.เผยเป็นกม.หากรพ.ไหนเก็บเงิน ร้องเรียนทันที

จากสถานการณ์โควิดระบาด จนส่งผลให้มีผู้ป่วยและเข้ารับการรักษาจำนวนมาก และเกิดคำถามว่า หลักประกันสุขภาพของไทยจะครอบคลุมการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนด้วยหรือไม่นั้น

       ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ) ในการแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019  
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงประเด็นนี้ ว่า  หากสงสัยว่ามีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการไปสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ทำให้ต้องไปรับการตรวจหาเชื้อโควิด และหากได้รับการตรวจคัดกรองโควิดแล้ว ยืนยันว่า ไม่มีการเสียค่าใช้จ่าย และเมื่อพบว่าติดเชื้อ จะได้รับการรักษาฟรีไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน  ซึ่งอัตราการจ่ายได้มีการตงลงกันกับทุกหน่วยบริการและผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีแล้ว
 
       นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เป็นต้นมา ได้เพิ่มเติมว่า หากจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือแพทย์มีดุลพินิจให้ตรวจ สามารถเข้ารับการตรวจได้ฟรี และถ้าติดเชื้อโรงพยาบาลจะให้การดูแลตามความรุนแรงของอาการโดยไม่เสียค่าใช่จ่าย  ซึ่งงบประมาณทั้งหมดนี้ สปสช.และกองทุนสุขภาพอื่นๆได้มีงบประมาณเตรียมไว้แล้ว ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาเฉลี่ยต่อคนประมาณ 1 แสนบาท แต่บางรายที่อาการรุนแรงก็จะเบิกเยอะขึ้น สปสช.เคยจ่ายสูงสุด 1 ล้านบาท ซึ่งอัตราที่จ่ายเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด อีกทั้งผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว สปสช.ก็ใช้ราคานี้ในการจ่าย ต้องให้ความมั่นใจว่าเราเตรียมงบประมาณค่าตรวจรักษาไว้แล้วตามอัตราที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุที่โรงพยาบาลต้องไปเก็บเพิ่มจากประชาชน

       " สปสช.ได้เตรียมงบไว้ 1.1 หมื่นล้าน จ่ายไปแล้ว 7,000 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นค่าตรวจคัดกรอง อีกครั้งหนึ่งเป็นค่ารักษา อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาอาจถูกโรงพยาบาลเอกชนวิจารณ์ว่าจ่ายเงินช้า ทำให้ต้องไปเรียกเก็บจากผู้รับบริการก่อน แต่ขณะนี้ได้ปรับระบบให้จ่ายเงินเร็วขึ้นทุกๆ 2 สัปดาห์ และยังมีสายด่วนให้โรงพยาบาลเอกชนโทรมาสอบถามหากมีข้อสงสัยได้ด้วย ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันของโรงพยาบาลที่กังวลว่าจะได้เงินช้า" เลขาฯ สปสช.กล่าว

       ด้านนพ. ธเรศ กรัยนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)  กล่าวว่า
รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ต้องการลดภาระให้กับประชาชนเรื่องค่ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะโควิด-19 หลังจากที่ สธ. ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายในภาวะฉุกเฉิน ที่ทุกคนในแผ่นดินไทยต้องได้รับการรักษาพยาบาล เพื่อลดการติดเชื้อไปสู่ผู้อื่น ลดภาวะแทรกซ้อน ทั้งนี้ สบส. ไปนำเสนอต่อคณะกรรมการสถานพยาบาล ให้เป็นกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน และให้ทุกสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและทุกสังกัด ต้องรับรักษาผู้ป่วย

       นพ.ธเรศ กล่าวว่า ซึ่งมีประกาศออกมา 3 ฉบับเพื่อดูแลค่าใช้จ่าย ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข ได้แก่ 1.ค่ายา ค่าห้อง เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วย 2.ประกาศเพิ่มเติมในรายการยาให้ครอบคลุมมากขึ้น และ 3.ค่ารถรับส่งผู้ป่วยจากที่บ้าน ค่าทำความสะอาดรถ ค่ารักษาพยาบาลกรณีการเจ็บป่วยหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 เนื่องจากเป็นกรณีต้องได้รับการรักษาทันท่วงที

       นพ.ธเรศ กล่าวว่า สถานพยาบาลภาคเอกชน ดำเนินการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) แล้วทาง สปสช. ก็จะไปเรียกเก็บจากกองทุนต่างๆ ในภายหลัง ซึ่งค่าใช้จ่ายจะครอบคุม ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ายา ค่าพาหนะรับส่ง ดังนั้น เมื่อมีประชาชนเข้าไปรักษาในโรงพยาบาล หน้าที่ของผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องทำ 2 เรื่องคือ 1.ให้การดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัย 2.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากสปสช. หากไม่ดำเนินการจะมีโทษตามมาตรา 66 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

       นพ.ธเรศ กล่าวว่า  ที่ผ่านมาพบกรณีสถานพยาบาลที่ฝ่าฝืนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลกับผู้ป่วย จำนวน  44 เรื่องใน 74 ราย เนื่องจากบางครอบครัวก็เข้าไปรักษาหลายคน ทั้งนี้ สถานพยาบาลได้คืนเงินผู้ป่วยครบทุกรายแล้ว และยังมีเรื่องคงค้างใน เดือนเม.ย. อยู่จำนวนหนึ่ง จะมีการสอบสวนต่อไป อย่างไรก็ตาม หากประชาชนมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่สายด่วนสปสช. 1330 และ สายด่วนสบส. 1426

ที่มา www.hfocus.org