C-004
หลักสูตรการป้องกันปัญหาออฟฟิศซินโดรม สำหรับผู้ปฎิบัติงานคอมพิวเตอร์ (Office Syndrome Administration of Working with Computer)
หลักการและเหตุผล
ในปัจจุบันนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop computer) และเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (Notebook computer) เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยให้การปฏิบัติงานหลายประเภทในสำนักงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลสำเร็จโดยใช้เวลาที่สั้นลง พนักงานส่วนใหญ่ในสำนักงานใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์หลักในการปฏิบัติงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยที่ระยะเวลาในการปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ในแต่ละวันมักจะนานกว่า 4 ชั่วโมง และถ้าเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการ ก็ต้องปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน สถานีงานคอมพิวเตอร์ (โต๊ะและเก้าอี้) ที่พบในสำนักงานต่าง ๆ มักจะเป็นโต๊ะระดับเดียว (เช่น โต๊ะทำงาน) หรือโต๊ะคอมพิวเตอร์ (ที่มีลิ้นชักวางแป้นพิมพ์ซึ่งเลื่อนเข้า-ออกได้) ส่วนเก้าอี้จะเป็นเก้าอี้สำนักงานประเภทมีล้อเลื่อนและปรับระดับเบาะนั่งให้สูง-ต่ำได้ ซึ่งสถานีงานคอมพิวเตอร์เหล่านี้มีขีดจำกัดในด้านการปรับระดับสูง-ต่ำและระยะใกล้-ห่างให้เหมาะสมกับร่างกายของพนักงาน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ปฏิบัติงานสำนักงานประกอบด้วยแป้นพิมพ์ เมาส์ และจอภาพ โดยที่จำนวนของจอภาพที่พนักงานบางคนใช้ อาจจะเป็น 2 จอภาพ ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ปฏิบัติ
ออฟฟิศซินโดรม คือ กลุ่มอาการของปัญหาสุขภาพและโรคต่าง ๆ ที่มักจะพบในพนักงานสำนักงาน ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยท่าทางหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (เช่น ปฏิบัติงานในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง นั่งในท่าเดิมโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะเวลานานเกินไป ทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพัก) ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม (เช่น สถานที่ทำงานมีเสียงดังรบกวนการทำงาน ระดับแสงสว่างที่บริเวณทำงานไม่พอเพียง มีแสงสะท้อนบนจอภาพจากไฟเพดานหรือจากแสงสว่างภายนอก อุณหภูมิร้อนหรือเย็นเกินไป) และการใช้อุปกรณ์ปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะสม (เช่น เก้าอี้นั่งมีเบาะที่มีความลึกมากเกินไป ที่พักแขนปรับระดับไม่ได้ โต๊ะวางเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่มีลิ้นชักวางแป้นพิมพ์)
ตัวอย่างกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม คือ
- กลุ่มปัญหาที่พบในระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal System) ของร่างกาย ได้แก่ อาการปวดเมื่อยและบาดเจ็บที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ ไหล่ ข้อมือ หลัง (ส่วนล่าง) ขา เท้า
- กลุ่มปัญหาที่พบในระบบการมองเห็น เช่น อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตา อาการตาแห้ง อาการตาพร่ามัว และอาการวุ้นในลูกตาเสื่อม
- กลุ่มปัญหาด้านจิตใจ เช่น อาการเครียด กังวล นอนไม่หลับ
- กลุ่มปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ความดันโลหิตสูง น้ำหนักตัวเพิ่ม ปวดศีรษะเรื้อรัง กรดไหลย้อน
ในกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมที่กล่าวมาในข้างต้น กลุ่มปัญหาที่พบในระบบกล้ามเนื้อและกระดูกของร่างกายเป็นกลุ่มปัญหาที่เด่นชัดและปรากฎในพนักงานสำนักงานจำนวนมากทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเป็นผลกระทบด้านสุขภาพโดยตรงต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเนื่องจากการปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์
นักวิจัยทางด้านการยศาสตร์และด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยได้รายงานว่า พนักงานที่ปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ในสำนักงาน และมีปัญหาอาการบาดเจ็บสะสมที่ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal Disorders, MSDs) มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยนักวิจัยได้สรุปว่าสาเหตุหลักประการหนึ่งของปัญหานี้ คือ การปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างไม่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงาน โดยจะมีอาการปวดเมื่อย (รวมทั้งบาดเจ็บ) ที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น บริเวณคอ ไหล่ ข้อมือ และหลัง (ส่วนล่าง) และจะมีผลกระทบต่อสมรรถภาพในการปฏิบัติงานของพนักงานด้วย
การยศาสตร์ (Ergonomics) คือ สหวิทยาการที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบงานซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ คือ มนุษย์ อุปกรณ์และเครื่องมือ สภาพแวดล้อม และงานที่ต้องปฏิบัติ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยออกแบบ ดัดแปลง และปรับปรุงระบบงานให้เกิดความเหมาะสมสำหรับมนุษย์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและได้รับผลกระทบจากองค์ประกอบอื่น ๆ น้อยที่สุด ในระบบงานการยศาสตร์ องค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบงานมีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา นักการยศาสตร์ต้องพิจารณามนุษย์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด (หรือเป็นศูนย์กลาง) ของระบบงาน และต้องออกแบบ ดัดแปลง และปรับปรุงองค์ประกอบอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับและส่งเสริมองค์ประกอบมนุษย์
ในระบบงานซึ่งมีพนักงานนั่งปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ในสำนักงาน ก็สามารถพิจารณาเป็นระบบงานการยศาสตร์ได้ ดังนั้น การนำหลักการยศาสตร์ไปประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ จะต้องพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบงานในสำนักงาน คือ สถานีงาน (โต๊ะและเก้าอี้) อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (แป้นพิมพ์ เมาส์ และจอภาพ) สภาพแวดล้อม งาน และพฤติกรรมของพนักงาน นักการยศาสตร์ต้องประเมินระบบงานคอมพิวเตอร์ในสำนักงานตามหลักการยศาสตร์ และประเมินท่าทางในการปฏิบัติงานของพนักงานด้วย ผลจากการประเมินระบบงานและท่าทางของพนักงาน จะช่วยให้นักการยศาสตร์ทราบสาเหตุของปัญหาอาการปวดเมื่อยที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และสามารถเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม การที่มีนักการยศาสตร์ไปช่วยประเมินระบบงานคอมพิวเตอร์ในสำนักงาน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอาการบาดเจ็บสะสมที่ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกได้ ซึ่งจะช่วยเอื้ออำนวยให้คุณภาพของชีวิตการทำงานดีขึ้น พนักงานสามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างสะดวกสบายขึ้น และองค์กรได้ผลงานที่สำเร็จสมบูรณ์มากขึ้น
วัตถุประสงค์
หลักสูตรฝึกอบรมเรื่อง การป้องกันปัญหาออฟฟิศซินโดรมในพนักงานสำนักงาน เป็นหลักสูตรสำหรับพนักงานสำนักงานที่ต้องปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องและเป็นประจำ โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(1) เพื่อให้พนักงานสำนักงานมีความรู้เกี่ยวกับระบบงานการยศาสตร์และองค์ประกอบ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบงานคอมพิวเตอร์ในสำนักงาน)
(2) เพื่อให้พนักงานสำนักงานทราบผลกระทบของปัญหาออฟฟิศซินโดรมต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูกของร่างกาย
(3) เพื่อให้พนักงานสำนักงานทราบผลกระทบของปัญหาออฟฟิศซินโดรมต่อสุขภาพตา
(4) เพื่อให้พนักงานสำนักงานทราบท่าทางในการปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บที่ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
(5) เพื่อให้พนักงานสำนักงานทราบท่าบริหารร่างกายเพื่อคลายอาการปวดเมื่อยร่างกายและเสริมสร้างสมรรถภาพกล้ามเนื้อของส่วนร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์
(6) เพื่อให้พนักงานสำนักงานทราบแนวทางการปรับปรุงระบบงานคอมพิวเตอร์ในสำนักงานให้เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์
(7) เพื่อให้พนักงานสำนักงานเห็นตัวอย่างของการปรับปรุงสถานีงานคอมพิวเตอร์ในสำนักงานให้เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์ จากกรณีศึกษาของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
หัวข้อการฝึกอบรม
-
ระบบงานคอมพิวเตอร์ในสำนักงาน
-
ผลกระทบของปัญหาออฟฟิศซินโดรมต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
-
ผลกระทบของปัญหาออฟฟิศซินโดรมต่อสุขภาพตา
-
ท่าทางในการปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ในสำนักงาน
-
ท่าบริหารร่างกายสำหรับพนักงานสำนักงานที่ปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์
-
แนวทางการปรับปรุงระบบงานคอมพิวเตอร์ในสำนักงาน
-
การปรับปรุงสถานีงานคอมพิวเตอร์ตามหลักการยศาสตร์
วิทยากร
-
ผู้เชี่ยวชาญด้านการยศาสตร์ (การปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์)
-
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานหรือเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมขององค์ที่ได้รับการฝึกอบรมเรื่องการป้องกันปัญหาออฟฟิศซินโดรมในพนักงานสำนักงาน
กลุ่มเป้าหมาย
- พนักงานสำนักงาน (ผู้ปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องและเป็นประจำ)
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน
ราคาค่าธรรมเนียมในการให้บริการ
-
ค่าใช้จ่าย 50,000 บาท (จำกัดไม่เกิน 30 คนต่อรุ่น)
วิธีและรูปบบการฝึกอบรม
- บรรยาย กรณีศึกษา และฝึกปฏิบัติการ
- การทดสอบความรู้ความเข้าใจ ก่อน-หลังการฝึกอบรม
ระยะเวลาในการฝึกอบรม
- 2 วัน (12 ฃั่วโมง)
การวัดผลและการประเมินผล
- ผู้เข้าอบรมต้องเข้าร่วมอบรมเต็มเวลาตลอดหลักสูตร
- ผู้เข้าอบรมต้องทำข้อสอบประเมินผล โดยผ่านเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ70 จึงจะมีสิทธิ์ได้รับใบรับรองการอบรม
กำหนดการฝึกอบรม
หลักสูตรการป้องกันปัญหาออฟฟิศซินโดรม สำหรับผู้ปฎิบัติงานคอมพิวเตอร์
วันที่หนึ่ง
เวลา | รายละเอียด |
09.00 - 12.00 น. | (1) ระบบงานคอมพิวเตอร์ในสำนักงาน |
13.00 - 16.00 น. | (3) ผลกระทบของปัญหาออฟฟิศซินโดรมต่อสุขภาพตา |
วันที่สอง
เวลา | รายละเอียด |
09.00 - 12.00 น. | (5) ท่าบริหารร่างกายสำหรับพนักงานสำนักงานที่ปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ |
13.00 - 16.00 น. | (7) การปรับปรุงสถานีงานคอมพิวเตอร์ตามหลักการยศาสตร์ : กรณีศึกษา |