กระทรวงแรงงาน โดยสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม กรมควบคุมโรค และสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 34 (THAILAND SAFE@WORK#34) ขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน -2 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน (Forward Culture of Prevention for Safety Thailand)”
วันที่ 30 มิถุนายน 2565 เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม และมอบโล่ผู้สนับสนุนการจัดงาน มอบโล่ประกาศเกียรติคุณกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี 2565 ระดับแพลทินัม ให้กับสถานประกอบกิจการ จำนวน 38 แห่ง มอบโล่ประกาศเกียรติคุณโครงการพัฒนาสถานประกอบกิจการตามมาตรฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประจำปีงบประมาณ 2564 ระดับแพลทินัม ให้กับสถานประกอบกิจการ จำนวน 27 แห่ง และมอบรางวัลการประกวดโครงงานพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ประจำปี 2565 จำนวน 5 รางวัล
ในปี 2565 สสปท. ได้วางแนวทางขับเคลื่อนการสร้างสรรค์วัฒนธรรมความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ด้วยค่านิยมหลักด้านความปลอดภัยร่วมกัน (Safety Shared Values) ซึ่งเป็นค่านิยม 3 ข้อ (M-D-C) ที่ต้องร่วมมือกัน คือ การมีสติรู้ตัว (Mindfulness) วินัยถูกต้อง (Discipline) เอื้ออาทรใส่ใจ (Caring) โดยจะส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการนำค่านิยมนี้ไปปรับใช้ เพื่อช่วยให้คนทำงานมีความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดี
กิจกรรมภายในงานตลอด 3 วัน ประกอบด้วยการสัมมนาวิชาการในรูปแบบ On Site และ Online ที่มีหัวข้อสัมมนาให้เลือกกว่า 32 หัวข้อ การแสดงนิทรรศการด้านความปลอดภัย ซึ่งจัดขึ้นบริเวณอาคารชาเลนเจอร์ 1 โดยมีบูธนิทรรศการจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา จำนวนกว่า 60 บูธ กิจกรรมการสาธิตด้านความปลอดภัยในการทำงาน กิจกรรมทอล์คโชว์และสาระบันเทิงมากมาย การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงาน กระตุ้นการสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในการทำงานให้เกิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เปิดโอกาสการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประสบการณ์ รวมทั้งได้รับทราบแนวทางและนโยบายการพัฒนางานด้านความปลอดภัยในการทำงานระดับประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการความปลอดภัยให้คนทำงานมีความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป