งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 30 หวังสร้างความตระหนักในทุกภาคส่วน เกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการทำงาน ผ่านกลไก ‘ประชารัฐ’ ภายใต้แนวคิด “แรงงานปลอดภัยสุขภาพอนามัยดี นำประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เตรียมเสนอ ครม.ประกาศเรื่องความปลอดภัยเป็นวาระแห่งชาติ
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเปิดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 30 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 201 – 203 ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นบ้านเมืองที่มีความปลอดภัยตามนโยบายเซฟตี้ไทยแลนด์ กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มีการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการยืนยันว่าสถานประกอบการในประเทศไทยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในสถานประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง เพราะความปลอดภัยถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญระดับที่ต้องทำในระดับโลก การจัดงานดังกล่าวถือเป็นการร่วมแรงร่วมใจของหน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่หลักในเรื่องของความปลอดภัยที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักในเรื่องของความปลอดภัย
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า โดยในปี 2559 นี้ กระทรวงแรงงานจะได้บูรณาการกับ 5กระทรวงที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรมในการดำเนินการโครงการเซฟตี้ไทยแลนด์ เพื่อลดการบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ให้ครอบคลุมคนทำงานในทุกภาคส่วนของประเทศ โดยทุกหน่วยเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องของความปลอดภัยในแต่ละด้านที่รับผิดชอบเพื่อที่จะรณรงค์ในการดำเนินโครงการเซฟตี้ไทยแลนด์ ลดการบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน โดยกำหนดเป้าหมายให้ครอบคลุมคนทำงานในทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ผ่านกลไกประชารัฐ ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงาน และร่วมกันปลูกฝังความตระหนัก และทัศนคติเรื่องความปลอดภัย โดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ให้รู้เท่าทันความเสี่ยงหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งในที่ทำงาน บ้านเรือน และที่สาธารณะ อีกทั้งต้องมีมาตรการป้องกัน ที่ได้มาตรฐานและผู้ใช้แรงงานต้องนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี นำเรื่องความปลอดภัยให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้จะสามารถลงนามความร่วมมือกับ 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
“จะเน้นหนักใน 3 เรื่องก่อน ได้แก่ ความปลอดภัยด้านสิ่งก่อสร้าง งานก่อสร้าง อัคคีภัย สารเคมีอันตราย และการลดอุบัติเหตุ อุบัติภัยที่เกิดขึ้นจากความปลอดภัยด้วย โดยตั้งเป้าหมายนำร่อง 6 เดือนแรกจะขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยในการทำงานให้ลดลงอย่างน้อย 5% ทั้งนี้ ถือว่าเป็นการรณรงค์พร้อมกันเป็นครั้งแรกซึ่งจะทำให้โครงการนี้เป็นโครงการที่เรียกว่า “ประชารัฐ” คือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมจะพร้อมใจกันที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะสามารถดำเนินการลุล่วงให้ประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ ทุกภาคส่วน ต้องตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงาน ต้องช่วยกันปลูกฝังสำนึกและทัศนคติเรื่องความปลอดภัยให้กับสังคมไทยโดยรวม โดยเริ่มตั้งแต่เด็ก เยาวชน ครอบครัว และในสังคมแรงงาน เกี่ยวกับความมีวินัย ความรับผิดชอบ ต่อตนเอง สาธารณะ และสังคม การเคารพในสิทธิและหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น การรู้เท่าทันความเสี่ยงหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะการทำงาน การใช้ชีวิตในบ้าน สถานที่หรือที่สาธารณะรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้เกิดประโยชน์ นำประเทศไทยสู่สังคมที่มีวัฒนธรรม ความปลอดภัยเกิดขึ้น นั่นคือ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของคนทำงานของประเทศ
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน ยังมอบรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัยในการทำงาน รวมกว่า 330 แห่ง คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ดีเด่น 5 แห่ง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพดีเด่น รวม 26 คน รวมถึงการมอบรางวัลสถานศึกษาปลอดภัย ซึ่งในปีนี้มีสถานศึกษาได้รับรางวัลทั้งสิ้น 245 แห่ง
ด้านนางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า การจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติเป็นการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี โดยดำเนินการจัดงานมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 30 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2559 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. ภายใต้ชื่องาน “แรงงานปลอดภัยสุขภาพอนามัยดี นำประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อรณรงค์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของคนทำงาน รวมถึงสร้างเสริมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ตลอดจนทบทวนปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน และสร้างความร่วมมือร่วมใจกันในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ เพื่อไปสู่เป้าหมายของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงานให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน รวมถึงการลดอัตราการประสบอันตรายและโรคอันเนื่องมาจากการทำงานลงให้มากที่สุด ซึ่งเป็นเป้าหมายของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแล้ว