หลักการและเหตุผล
การยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้ไปสู่อุตสาหกรรม ๔.๐ นั้นจะต้องมีกำลังคนที่มีศักยภาพและความสามารถ ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องมีการเตรียมการพัฒนาคนทั้งที่อยู่ในระบบการศึกษาและกำลังแรงงาน ให้มีทักษะสำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและคุณภาพของแรงงานประเทศไทยในระยะยาว ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากำลังคนนั้น เป็นส่วนสำคัญมากในการยกระดับภาคอุตสาหกรรม แต่หากสถานประกอบกิจการนั้นมีข้อจำกัดในด้านทุนทรัพย์ ด้านคุณภาพแรงงาน ด้านเทคโนโลยีการผลิต ด้านการเข้าถึงบริการของรัฐและการรับรู้ข่าวสาร รวมไปถึงด้านการบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ก็จะทำให้สถานประกอบกิจการเหล่านี้ขาดความเข้มแข็งที่จะดำเนินกิจการในสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องแข่งขันกันด้วยคุณภาพ หรือเมื่อมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มากระทบต่อกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการเกิดอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยของแรงงาน ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งต่อการดำเนินกิจการและการดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานในสถานประกอบกิจการ จึงมีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจในปัจจุบัน
สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน สำหรับสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก ขึ้นในปี ๒๕๕๙ และ ๒๕๖๐ เพื่อส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ซึ่งในปี๒๕๖๐ การดำเนินโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งผลการดำเนินงานปี ๒๕๖๐พบว่ามีสถานประกอบกิจการที่ผ่านการประเมินผลการจัดทำระบบมาตรฐานฯ จำนวน ๔๖ แห่งจากทั้งหมด ๕๐ แห่ง และสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการเห็นว่า ควรจัดให้มีโครงการนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สถานประกอบกิจการอื่นๆ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการจัดการด้านความปลอดภัยฯ และสำหรับสถานประกอบกิจการที่ยังไม่ผ่านการรับรอง หรือสถานประกอบกิจการที่ยังไม่ได้ระดับ Platinum ควรเข้าร่วมโครงการในครั้งถัดไป เพื่อยกระดับให้มีการพัฒนาและสามารถก้าวสู่การรับรองในระดับที่สูงขึ้นได้
ดังนั้น เพื่อติดตามและพัฒนาการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐ และขยายผลการดำเนินโครงการนี้ ไปยังสถานประกอบกิจการอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงสูงในการประสบอันตรายจากการทำงาน สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) จึงเสนอให้มี “โครงการส่งเสริมการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีการประสบอันตรายจากการทำงานสูง” ขึ้น
วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานประกอบกิจการมีการประสบอันตรายจากการทำงานสูง รวมทั้งสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เคยเข้าร่วมโครงการฯ
- เพื่อติดตามและพัฒนาการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐
- เพื่อสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งทุนจากกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการให้เกิดความปลอดภัย
กลุ่มเป้าหมาย
- สถานประกอบกิจการที่มีการประสบอันตรายสูง/มีความเสี่ยงต่อการประสบอันตรายจากการทำงาน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี หรือพระนครศรีอยุธยาจำนวน ๕๐ แห่ง หรือ
- สถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs) ที่เคยผ่านการตรวจประเมินระดับ BasicSilver หรือ Gold ของโครงการส่งเสริมการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐จำนวน ๒๕ แห่ง
ระยะเวลาดำเนินการ
๑๐ เดือน (มิถุนายน ๒๕๖๑ – มีนาคม ๒๕๖๒ )
วิธีการ และขั้นตอนการดำเนินงาน
กิจกรรมที่ ๑ : การส่งเสริมการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูงในการประสบอันตรายจากการทำงาน
- คัดเลือกสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการฯ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะทำงาน
- สถานประกอบกิจการที่มีการประสบอันตรายสูง/มีความเสี่ยงสูงในการประสบอันตรายจากการทำงานที่อยู่ในเขตพื้นที่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี หรือพระนครศรีอยุธยา
- มีบุคลากร/คณะทำงานหลัก ในการรับผิดชอบการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัยฯ
- ผู้บริหารลงนามอนุมัติการสมัครเข้าร่วมโครงการ
- ประชุมเพื่อชี้แจงโครงการฯ ร่วมกับผู้บริหารสถานประกอบกิจการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สสปท. และสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรม ดังนี้
- การชี้แจงวัตถุประสงค์ ขั้นตอนการดำเนินโครงการฯ
- การแบ่งปันประสบการณ์การจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัยฯ ของสถานประกอบกิจการที่ได้ระดับ Platinum ปี ๒๕๖๐
- การแนะนำ Web Database และขั้นตอนการใช้งาน
- การแนะนำกองทุนความปลอดภัยฯ และระเบียบ วิธีการขอกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- พิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สสปท. และสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการ
- อบรม “ข้อกำหนดระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” ให้กับตัวแทนสถานประกอบกิจการจำนวน ๑ รุ่น ๒ วัน
- ตรวจเยี่ยมองค์กร (Initial Review)และฝึกอบรม“ข้อกำหนดระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” ภายในสถานประกอบกิจการ ๑ วัน
- ตรวจติดตามการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานภายในสถานประกอบกิจการ
- ตรวจเยี่ยมครั้งที่ ๑ ติดตามการชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยง การจัดทำขั้นตอนการดำเนินงานการควบคุมการปฏิบัติตามผลประเมินความเสี่ยงการจัดทำนโยบาย วัตถุประสงค์ และแผนงานด้านความปลอดภัยฯ และจัดทำรายงานผลการตรวจเยี่ยมองค์กร
- ตรวจเยี่ยมครั้งที่ ๒ติดตามการจัดทำทะเบียนกฎหมายด้านความปลอดภัยฯ การจัดทำขั้นตอนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงานขององค์กรตามพื้นที่เสี่ยง และจัดทำรายงานผลการตรวจเยี่ยมองค์กรและประเมินผลการนำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานไปใช้ในสถานประกอบกิจการเบื้องต้น
- ฝึกอบรม หลักสูตร “การตรวจประเมินภายใน” แก่ผู้ตรวจประเมิน (Auditor) และจัดทำรายงาน ผลการฝึกอบรม
- สสปท. สรุปผลในภาพรวมและแจ้งรายงานผลแก่สถานประกอบกิจการพร้อมทั้งแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข
กิจกรรมที่ ๒ : การติดตามและพัฒนาการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐
- รับสมัครสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- เป็นสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เคยเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในระดับที่ต่ำกว่า Platinum และมีความประสงค์ที่จะพัฒนาการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น (Silver Gold หรือ Platinum)
- มีบุคลากร/คณะทำงานหลัก ในการรับผิดชอบการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัยฯ
- ประชุมเพื่อชี้แจงโครงการฯ ร่วมกับผู้บริหารสถานประกอบกิจการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรม ดังนี้
- การชี้แจงวัตถุประสงค์ ขั้นตอนการดำเนินโครงการฯ
- การแบ่งปันประสบการณ์การจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัยฯ ของสถานประกอบกิจการที่ได้ระดับ Platinum ปี ๒๕๖๐
- การแนะนำกองทุนความปลอดภัยฯ และระเบียบ วิธีการขอกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- การแนะนำ Web Database และขั้นตอนการใช้งาน
- ตรวจเยี่ยมองค์กร (Initial Review) ๑ วัน
- ตรวจติดตามการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานภายในสถานประกอบกิจการ
๔.๑) ตรวจเยี่ยมครั้งที่ ๑ ติดตามการดำเนินงานด้านความปลอดภัย ตามข้อกำหนดของระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานภายในสถานประกอบกิจการ
๔.๒) ตรวจเยี่ยมครั้งที่ ๒ ติดตามการพัฒนาระบบมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการและประเมินผลการนำระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานไปใช้ในสถานประกอบกิจการ
- ประชุมสรุปผลในภาพรวม และพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณสถานประกอบกิจการ
ประโยชน์ที่สถานประกอบกิจการจะได้รับ
- ประกาศเกียรติคุณที่รับรองด้านมาตรฐานความปลอดภัย
- การสนับสนุนและรับคำปรึกษาในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน
- สามารถเข้าถึงการให้บริการจากกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- เพิ่มโอกาสในการพัฒนาผลิตภาพแรงงานและเสริมศักยภาพแรงงาน รวมถึงเสริมศักยภาพให้สถานประกอบกิจการมีโอกาสในการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น
- ประชาสัมพันธ์ให้สถานประกอบกิจการของท่านเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
- เข้าถึงฐานข้อมูล (Database) ให้กับสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วม ทำให้เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจมากขึ้น
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
ไม่มีค่าใช้จ่าย
หมายเหตุ
- สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีสำนักงานสาขา ทางสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการคัดเลือกเพียง ๑ สาขา
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
- โทร. ๐๒ ๔๔๘ ๙๑๑๑ ต่อ ๔๐๕ คุณขนิษฐา แสงภักดี
ดาวน์โหลดคู่มือระบบมาตรฐานความปลอดภัยฯ สำหรับสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก
[ คู่มือการปฏิบัติตามระบบมาตรฐานความปลอดภัย SME ] | [ ระบบมาตรฐานความปลอดภัย SME ] |