งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ: วันศุกร์, 24 เมษายน 2563 13:50
- ฮิต: 17653
งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ THAILAND SAFE@WORK
ปี พ.ศ.2559 สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ได้รับการส่งมอบจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อดำเนินการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ภายใต้ชื่องานใหม่ "งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ" (THAILAND SAFE@WORK) โดยเริ่มจัดงานเมื่อ ปี พ.ศ.2560 (ครั้งที่ 31)
แนวคิดในการออกแบบโลโก้งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ
ออกแบบและตัดทอนรูปคนสวมหมวกนิรภัย มีรูปกากบาทและแถบเส้นพุ่งโอบล้อม ประสานเชื่อมโยงกัน เพื่อสื่อถึงงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ หมวกนิรภัย สื่อถึงความปลอดภัย ในการประกอบอาชีพการงาน รูปกากบาท สื่อถึงสุขภาพอนามัย สภาวะที่สมบูรณ์ทางกายและใจ แถบเส้นพุ่งโอบล้อม สื่อถึงการเข้าไปควบคุมดูแลสุขภาพอนามัยของผู้ประกอบอาชีพการงาน ให้มีสภาวะที่สมบูรณ์ มีความปลอดภัยจากอันตรายและความเสี่ยงต่าง ๆ ให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ด้วยดี สีเขียวไล่โทนสีฟ้า แทนความสมบูรณ์ และความปลอดภัย
ความเป็นมาของการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ
ในช่วงเดือนตุลาคม 2528 ได้มีการหารือระหว่างหัวหน้าส่วนราชการระดับกองของกรมแรงงานเกี่ยวกับการพัฒนางานความปลอดภัยในการทำงาน ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า นอกจากการพัฒนาและบังคับใช้กฎหมาย การตรวจแรงงาน การศึกษาวิจัย การตรวจทดสอบและวิเคราะห์ปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแล้ว สมควรจะมีกิจกรรมเสริมโดยการจัดงาน “สัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงาน” ระดับประเทศเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นศูนย์กลางของกลุ่มบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้บริหาร นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ให้มาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิชาการ แนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหา และเป็นแหล่งแสดงผลงานวิชาการด้านความปลอดภัยที่ประสบความสำเร็จในสถานประกอบกิจการเพื่อการเผยแพร่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของคนทำงาน ความเสียหายและความทุกข์ของคนที่ได้รับอันตรายจากการทำงาน รวมถึงความเสียหายจากทุกคนที่มีส่วนได้รับจากการนั้นด้วย
ซึ่งความคิดริเริ่มดังกล่าว สอดคล้องกับมติในที่ประชุมของคณะอนุกรรมการอุบัติภัยในการทำงานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่เห็นสมควรให้มีการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานขึ้นเช่นเดียวกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่มผู้สนใจในเรื่องนี้ ในขณะนั้น อันได้แก่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สภาองค์การนายจ้าง สมาคมอุตสาหกรรมไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ และกรมแรงงานได้หารือเป็นการภายใน เห็นสมควรที่จะเสนอข้อคิดเห็นดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ให้เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ อันประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการ องค์การของรัฐและของเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการร่วมกัน
วันที่ 18 ธันวาคม 2528 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานเป็นคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงาน อันประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการ องค์กรของรัฐและเอกชนเป็นกรรมการร่วมกัน และมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม) เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมแรงงาน (ปัจจุบันคือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจัดงานเป็นศูนย์รวมของวิชาการและการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และเป็นกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ กระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานในประเทศไทย
การจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-3 มิถุนายน 2529 โดยมีการจัดสัมมนา และประกวดสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัยและสวัสดิการ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นคือระหว่างวันที่ 1-7 มิถุนายน 2529 ถือว่าเป็นช่วงเวลาของการรณรงค์สัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานทั่วประเทศ มีการจัดงานในระดับจังหวัดทุกจังหวัด
ในวันที่ 14 ตุลาคม 2529 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยให้รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการการจัดงานในช่วงปีแรกๆ ไม่มีการกำหนดวันจัดงานที่แน่นอน จนเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2535 คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 1-5 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ และให้จัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เป็นกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานในช่วงเวลาเดียวกัน
ในปี 2540 องค์กรลูกจ้างได้เรียกร้องให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์ อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 188 ราย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 เห็นชอบตามที่เสนอ และให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2535 โดยมอบให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (ในขณะนั้น) ไปกำหนดสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ จึงได้เริ่มจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติในช่วงเวลาคาบเกี่ยววันที่ 10 พฤษภาคม ตั้งแต่การจัดงานครั้งที่ 12 (ปี 2541) เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
กิจกรรมหลักในการจัดงาน ได้แก่ การสัมมนาวิชาการ การจัดนิทรรศการ และจัดกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยต่างๆ เช่น การประกวดสถานประกอบการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน การประกวดเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ การประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นด้านความปลอดภัยในการทำงานซึ่งเป็นตัวอย่างได้ การประกวดภาพถ่ายความไม่ปลอดภัยในการทำงาน การประกวดวาดภาพความปลอดภัย และการประกวดคำขวัญความปลอดภัย เป็นต้น
ปี 2543 คณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงาน เห็นควรให้มีการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานส่วนภูมิภาค 5 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ เพื่อให้มีการขยายผลโดยนำความรู้ด้านวิชาการและเทคโนโลยีความปลอดภัยและอาชีวอนามัยจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความปลอดภัยและอาชีวอนามัยครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งได้หมุนเวียนจัดในจังหวัดต่าง ๆ ของทั้ง 5 ภูมิภาค เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา
ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานครั้งที่ 1/2548 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2548 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย) เป็นประธานการประชุมได้มีมติให้แก้ไขชื่อของคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานเป็นคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน พร้อมทั้งปรับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ให้ครอบคลุมการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยทุกเรื่อง ไม่เพียงแต่การจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2548 การจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยแห่งชาติ จึงดำเนินการโดยคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน และในปี 2552 กระทรวงแรงงานเห็นชอบให้กำหนดจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติในเดือนกรกฎาคม 2552 และให้มีกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้ บริษัท เคเดอร์ อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด ในวันที่ 10 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ
ในปี 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 เห็นชอบการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน โดยให้มีอำนาจหน้าที่หลักในการกำกับนโยบายการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” และยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานออกจากคณะกรรมการดังกล่าว
การจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงาน ถือเป็นภารกิจที่กระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรับผิดชอบดำเนินการเป็นประจำทุกปี ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยฯ ออกจากคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานแล้ว กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงได้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้มอบอำนาจหน้าที่ในการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแก่คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มีคำสั่งที่ 12/2553 ลงวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2553 มอบหมายอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ดำเนินการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานเฉพาะกิจได้ตามความจำเป็น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาได้มีการประกาศพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ส่งผลให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หมดวาระลงในวันที่ 11 มกราคม 2555 คณะอนุกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการชุดนี้จึงหมดวาระลงตามไปด้วย การดำเนินการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติในปี 2555 – 2556 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อรองรับการจัดงานในพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้พระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ พ.ศ.2554
กระทรวงแรงงาน มีคำสั่ง ที่ 291/2555 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2555 แต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงได้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้มอบอำนาจหน้าที่ในการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแก่คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มีคำสั่งที่ 411/2556 ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2556 มอบหมายอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ดำเนินการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานเฉพาะกิจได้ตามความจำเป็น
งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ
กิจกรรมการจัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ |
---|