การจัดเก็บสารเคมีที่ดีนับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ในการช่วยส่งเสริมให้การทำงานในห้องปฏิบัติการเคมีเกิดความปลอดภัย1 การจัดเก็บสารเคมี คือ กระบวนการที่ต้องนำสารเคมีที่มีความเป็นอันตรายในรูปแบบต่างๆ เช่น ไวไฟ เป็นพิษ ว่องไวในการเกิดปฏิกิริยา เป็นต้น มาจัดเก็บไว้ในพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่มีความเหมาะสมภายใต้กรอบระยะเวลา (สารเคมีส่วนใหญ่มักจะถูกจัดเก็บยาวนานเป็นปี) การจัดเก็บสารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การจัดเก็บสารเคมีโดยจัดเรียงตามลำดับตัวอักษร การจัดเก็บสารเคมีโดยแยกตามสถานะ การจัดเก็บสารเคมีโดยไม่มีเกณฑ์ที่เชื่อถือได้ใดๆ ใช้ในการอ้างอิง การจัดเก็บสารเคมีในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ ตามมา เช่น การเกิดไฟไหม้ การระเบิด สารเคมีรั่วไหล เป็นต้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งแบบทางตรงและทางอ้อม เช่น การบาดเจ็บ การสูญเสียเวลา การสูญเสียทรัพย์สิน การเสียชีวิต รวมทั้งภาพลักษณ์ขององค์กรได้
โดยธรรมชาติของสารเคมีในห้องปฏิบัติการมักจะมีความแตกต่างกับส่วนงานอื่นๆ ขององค์กร เช่น ฝ่ายผลิต คลังเก็บสารเคมี โดยในห้องปฏิบัติการจะมีชนิดของสารเคมีที่ครอบครองซึ่งมีความหลากหลาย แต่จะมีปริมาณในแต่ละชนิดที่น้อย การจัดเก็บสารเคมีตามความเข้ากันได้ของสารเคมีจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อให้สามารถควบคุมความเป็นอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดเก็บสารเคมีโดยทั่วไป จะอาศัย
- การจัดเก็บสารเคมีตามประเภทความเป็นอันตราย เช่น สารไวไฟ สารออกซิไดซ์ สารระเบิดได้ เป็นต้น
- สารเคมีที่เข้ากันไม่ได้ (Incompatible chemicals) จะต้องถูกเก็บแยกให้ห่างออกจากกัน เช่น สารออกซิไดซ์กับสารไวไฟ กรดกับเบส สารออกซิไดซ์กับสารรีดิวซ์ เป็นต้น
- สารเคมีที่มีความเป็นอันตรายแบบเฉียบพลันและรุนแรง ต้องถูกเก็บแยกออกจากสารเคมีในกลุ่มอื่นๆ เช่น สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง สารที่ให้ก๊าซไวไฟเมื่อสัมผัสกับน้ำ สารพิษที่มีอันตรายสูง เป็นต้น
สำหรับแนวทางในการจำแนกกลุ่มของสารเคมีเพื่อใช้ในการจัดเก็บ สามารถใช้เกณฑ์อ้างอิงต่างๆ จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น การจำแนกสารเคมีตามกลุ่มสารที่เข้ากันได้ของ Lawrence M. Gibbs มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา2 การจำแนกวัตถุอันตรายสำหรับการจัดเก็บตามกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง คู่มือการจำแนกประเภทวัตถุอันตรายเพื่อการเก็บรักษา ตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ (พ.ศ. 2556-2560)3 เป็นต้น ทั้งนี้ จะขอยกตัวอย่างการจำแนกวัตถุอันตรายสำหรับการจัดเก็บตามกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยคู่มือการจำแนกประเภทวัตถุอันตรายเพื่อการเก็บรักษา ซึ่งจะแบ่งสารเคมีออกเป็น 13 ประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
ประเภทของสารเคมี |
รายละเอียด |
ตัวอย่างของสารเคมี |
1 |
วัตถุระเบิด |
Nitroguanidine, Tetrazole, Picric acid dry (<10% H2O) |
2 |
ก๊าซอัด ก๊าซเหลว หรือก๊าซที่ละลายภายใต้ความดัน |
Acetylene, Carbon dioxide, Chlorine, Nitrogen |
3 |
ของเหลวไวไฟ |
Benzene, Methanol, Toluene |
4 |
ของแข็งไวไฟ สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง สารที่ให้ก๊าซไวไฟเมื่อสัมผัสน้ำ |
Benzoyl chloride, Sodium borohydride, Zinc dust |
5.1 |
สารออกซิไดซ์ |
Ammonium nitrate, Nitric acid, Potassium permanganate |
5.2 |
สารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์ |
Hydrogen peroxide |
6.1 |
สารพิษ |
Cypermetrin, Phenol, Sodium cyanide |
6.2* |
สารติดเชื้อ |
Botulin จากเชื้อ Clostridium botulinum |
7* |
สารกัมมันตรังสี |
Cobalt-60, Uranium-238 |
8 |
สารกัดกร่อน |
Ammonium hydroxide, Hydrochloric acid, Lithium hydroxide |
9 |
ไม่นำมาใช้ |
- |
10 |
ของเหลวติดไฟ |
1,4-Butanediol, Dichlorotrifluoroethane, Triethanolamine |
11 |
ของแข็งติดไฟ |
4-aminodiphenyl, Auramine, Pyrene |
12 |
ของเหลวไม่ติดไฟ |
N,N-dimethyl-1,2-phenylenediamine, CFC-11 |
13 |
ของแข็งไม่ติดไฟ |
Borax, Cuprous oxide, Sodium chloride |
หมายเหตุ * สารเคมีประเภทที่ 6.2 (สารติดเชื้อ) และ 7 (สารกัมมันตรังสี) ต้องถูกจัดเก็บเป็นพิเศษตามระเบียบของรัฐ
ในการพิจารณาเพื่อจำแนกสารเคมีในการจัดเก็บตามตารางดังกล่าว จะใช้ข้อมูลจากเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารในหัวข้อที่ 2 การระบุความเป็นอันตราย (Hazard identification) ซึ่งจะมีแสดงข้อมูลความเป็นอันตรายของสารเคมีตามระบบ GHS และสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Pictogram) หรือใช้ข้อมูลความเป็นอันตรายจากฐานข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อถือได้ เช่น ECHA (European chemicals agency) สหภาพยุโรป4 PubChem ของ National Center for Biotechnology Information ประเทศสหรัฐอเมริกา5 เป็นต้น โดยจะนำข้อมูลความเป็นอันตรายของสารเคมีมาพิจารณาตามลำดับความสำคัญของความเป็นอันตราย ดังนี้
- ลำดับที่ 1 สารติดเชื้อ
- ลำดับที่ 2 สารกัมมันตรังสี
- ลำดับที่ 3 วัตถุระเบิด
- ลำดับที่ 4 แก๊สอัด ก๊าซเหลว หรือก๊าซที่ละลายภายใต้ความดัน
- ลำดับที่ 5 สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง
- ลำดับที่ 6 สารให้ก๊าซไวไฟเมื่อสัมผัสกับน้ำ
- ลำดับที่ 7 สารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์
- ลำดับที่ 8 สารออกซิไดซ์
- ลำดับที่ 9 ของแข็งไวไฟ
- ลำดับที่ 10 ของเหลวไวไฟ
- ลำดับที่ 11 สารพิษ
- ลำดับที่ 12 สารกัดกร่อน
- ลำดับที่ 13 ของเหลวติดไฟ/ ของเหลวไม่ติดไฟ
- ลำดับที่ 14 ของแข็งติดไฟ/ ของแข็งไม่ติดไฟ
ตัวอย่าง เช่น
- กรดไนตริก6 มีความเป็นอันตรายตามระบบ GHS คือ
H272: สารออกซิไดซ์อาจเร่งการลุกไหม้ให้รุนแรงขึ้น (May intensify fire; oxidizer)
H314: ทำให้ผิวหนังไหม้อย่างรุนแรงและทำลายดวงตา (Causes severe skin burns and eye damage)
ดังนั้น จัดกรดไนตริกเป็น สารออกซิไดซ์ (สารประเภท 5.1 ในการจัดเก็บสารเคมีตามกรมโรงงานอุตสาหกรรม)
- ฟีนอล7 มีความเป็นอันตรายตามระบบ GHS คือ
H301 เป็นพิษเมื่อกลืนกิน (Toxic if swallow)
H311 เป็นพิษเมื่อถูกผิวหนัง (Toxic in contact with skin)
H314 ทำให้ผิวหนังไหม้อย่างรุนแรงและทำลายดวงตา (Causes severe skin burns and eyes damage)
H331 เป็นพิษเมื่อสูดดม (Toxic if inhale)
H341 อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม (Suspected of causing genetic defects)
H373 อาจทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะเมื่อรับสัมผัสเป็นเวลานานหรือซ้ำหลายครั้ง (May cause damage to organs through prolonged or repeated exposure)
ดังนั้น จัดฟีนอล เป็นสารพิษ (สารประเภท 6.1 ในการจัดเก็บสารเคมีตามกรมโรงงานอุตสาหกรรม)
หลังการคัดแยกสารเคมีตามกลุ่มสารที่เข้ากันได้แล้ว ให้นำสารเคมีในแต่ละกลุ่มมาจัดเก็บเรียงกันตามลำดับตัวอักษร และปฏิบัติตามข้อแนะนำการจัดเก็บ ดังนี้
- จัดเก็บสารเคมีตามข้อแนะนำในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสาร ในหัวข้อเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
- หัวข้อที่ 7 การขนถ่าย การเคลื่อนย้ายและการจัดเก็บ (Handling and storage) แสดงข้อมูลข้อควรระวังในการเก็บรักษาสารเคมี
- หัวข้อที่ 10 ความเสถียรและความไวต่อปฏิกิริยา แสดงข้อมูลในเรื่องสารที่เข้ากันไม่ได้ (Incompatible materials)
- จัดเก็บสารเคมีตามข้อแนะนำในคู่มือการจำแนกประเภทวัตถุอันตรายเพื่อการเก็บรักษา ตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ (พ.ศ. 2556-2560)3
- ไม่จัดเก็บสารเคมีสัมผัสความร้อนหรือแสงแดดโดยตรง
- วางสารเคมีไว้บนภาชนะรองรับ (Secondary container) ที่มีสมบัติเฉื่อย สามารถกักเก็บสารเคมีได้ทั้งหมดในกรณีที่สารเคมีเกิดหกรั่วไหล
- ไม่จัดเก็บสารเคมีไว้ในระดับที่สูงเกินกว่าระดับสายตา
- จัดเก็บสารเคมีที่มีขนาดใหญ่และหนักบนชั้นวางที่มีระดับต่ำ
- ไม่เก็บสารเคมีไว้ในตู้ดูดควันอย่างถาวร
- ไม่วางขวดสารเคมีซ้อนกันตามแนวตั้ง
- ไม่วางสารเคมีไว้บนทางเดินหรือวางบนพื้น ควรเก็บในพื้นที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะ
- สารที่ต้องถูกจัดเก็บไว้ในพื้นที่ๆเย็น เช่น ตู้เย็น ตู้เย็นที่ใช้งานต้องเป็นประเภทที่สามารถกันการระเบิดได้ (Explosion-proof) ได้
ในกรณีที่สารเคมีมีลักษณะอันตรายเฉพาะ เช่น สารไวไฟ สารที่ว่องไวในการเกิดปฏิกิริยา สารกัดกร่อน เป็นต้น ให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำเพิ่มเติม6 ดังนี้
การจัดเก็บของเหลวไวไฟและของเหลวติดไฟ
- เก็บให้ห่างจากสารออกซิไดซ์ เช่น กรดไนตริก กรดโครมิก เปอร์มังกาเนต คลอเรต เปอร์คลอเรต และเปอร์ออกไซด์ เป็นต้น
- เก็บให้ห่างจากความร้อน และแหล่งก่อให้เกิดประกายไฟ
- ควบคุมปริมาณของของเหลวไวไฟและของเหลวติดไฟในการจัดเก็บ
- ถ้ามีสารไวไฟและสารติดไฟในปริมาณมาก ควรเก็บไว้ในตู้เก็บสารไวไฟโดยเฉพาะ
- เก็บตัวทำละลายที่มีจุดเดือดต่ำในที่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี ไม่ควรให้โดนแสงแดดโดยตรง
การจัดเก็บสารที่ว่องไวในการเกิดปฏิกิริยา
(เช่น สารระเบิดได้ สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง สารให้ก๊าซไวไฟเมื่อสัมผัสกับน้ำ สารออกซิไดซ์และสารรีดิวซ์ที่มีความรุนแรง เป็นต้น)
- การจัดเก็บสารที่ว่องไวในการปฏิกิริยา ตามข้อแนะนำในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสาร
- จัดเก็บสารในปริมาณน้อย
- จัดเก็บสารออกซิไดซ์ แยกออกจากสารรีดิวซ์ สารไวไฟและสารติดไฟ
- จัดเก็บสารรีดิวซ์ที่รุนแรง แยกออกจากสารที่ถูกรีดิวซ์ได้ง่าย
- จัดเก็บสารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง แยกออกจากสารไวไฟ
- เก็บสารที่ให้ก๊าซไวไฟเมื่อสัมผัสกับน้ำ ให้ห่างจากระบบดับเพลิงแบบสปริงเกลอร์ หรือแหล่งน้ำต่างๆ
การจัดเก็บสารกัดกร่อน
- จัดเก็บสารกัดกร่อนประเภทกรดแยกออกจากเบส
- ควรจัดเก็บสารกัดกร่อนในตู้เก็บสารกัดกร่อนโดยเฉพาะ
- ไม่เก็บสารกัดกร่อนไวในตู้ที่ทำจากโลหะ
- จัดเก็บกรดที่เข้ากันไม่ได้แยกออกจากกัน เช่น จัดเก็บกรดอนินทรีย์ที่มีสมบัติออกซิไดซ์ (Oxidizing inorganic acid) แยกออกจากกรดอนินทรีย์ที่ไม่มีสมบัติออกซิไดซ์ (Non-oxidizing inorganic acid) ตัวอย่างเช่น การแยกกรดไนตริกออกจากกรดไฮโดรคลอริก
- จัดเก็บกรดอินทรีย์ไว้รวมกับสารไวไฟและสารติดไฟ
นอกจากนี้ ควรมีการจัดทำสารบบสารเคมี (Chemical inventory) เพื่อสามารถบริหารจัดการข้อมูลสารเคมีรวมทั้งการใช้งานสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหมั่นปรับข้อมูลของสารบบสารเคมีให้มีความเป็นปัจจุบันอยู่เป็นประจำ ตัวอย่างของข้อมูลที่ควรบันทึกลงในสารบบสารเคมี ได้แก่
- ชื่อสารเคมี
- หมายเลข CAS ของสารเคมี
- ประเภทความเป็นอันตราย
- ปริมาณของสารเคมี
- ภาชนะบรรจุสารเคมี
- สถานที่จัดเก็บ
- วันที่รับสารเคมี
- วันที่หมดอายุ
- วันที่เปิดใช้งานสารเคมี
- ราคา
- ผู้รับผิดชอบ เป็นต้น
ผู้รับผิดชอบหรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรทำการประเมินความเสี่ยงในการจัดเก็บสารเคมี จัดหาอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่มีความเหมาะสม เช่น วัสดุดูดซับ ถังดับเพลิง ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาล เป็นต้น รวมทั้ง มีแผนตอบโต้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และดำเนินการฝึกซ้อมแผนตอบโต้อย่างต่อเนื่อง เช่น ฝึกซ้อมอย่างน้อยปีละครั้ง เมื่อสามารถจัดเก็บสารเคมีได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากอุบัติเหตุจากการจัดเก็บสารเคมีที่ไม่ถูกวิธี รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้การทำงานในห้องปฏิบัติการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดี และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยนำพาความสำเร็จมาให้หน่วยงาน และองค์กรได้ในท้ายสุด
บทความโดย : ดร. องอาจ ธเนศนิตย์ ศูนย์ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เอกสารอ้างอิง
- คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ. 2560. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4699 (พ.ศ. 2558) เรื่อง กําหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี เล่ม ๑ : ข้อกําหนด. [ONLINE] Available at https://www.sci.tsu.ac.th/org/sci/UserFiles/file/dowload%20file/มอก_2677%20เล่ม%201.pdf : [Accessed /20 December 2019].
- กรมโรงงานอุตสาหกรรม. 2560. คู่มือการจำแนกประเภทวัตถุอันตรายเพื่อการเก็บรักษาตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ (พ.ศ. 2556-2560). [ONLINE] Available at: http://oaep.diw.go.th/haz/wp-content/uploads/2019/01/บช5.1_56-60.pdf. [Accessed 16 December 2019].
- The National Academics of Sciences, Engineerings and Medicine. 2019. Prudent Practices in the Laboratory: Handling and Management of Chemical Hazards, Updated Version (2011). [ONLINE] Available at: https://www.nap.edu/catalog/12654/prudent-practices-in-the-laboratory-handling-and-management-of-chemical. [Accessed 16 December 2019].
- European Chemicals Agency. 2019. ECHA. [ONLINE] Available at: https://echa.europa.eu. [Accessed 20 December 2019].
- National Center for Biotechnology Information. 2019. PubChem. Available at: https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov. [Accessed 20 December 2019].
- ECHA. 2019. Summary of classification and labelling (nitric acid). [ONLINE] Available at: https://echa.europa.eu/information-on-chemicals/cl-inventory-database/-/disclidetails/75872. [Accessed 19 December 2019].
- ECHA. 2019. Summary of classification and labelling (phenol). [ONLINE] Available at: https://echa.europa.eu/information-on-chemicals/cl-inventory-database/-/discli/details/1011. [Accessed 19 December 2019].
- ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คู่มือความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมีสำหรับนิสิตที่ทำวิจัยและนักวิจัย. 1 ed. (SHE-CH-SD-003) [ONLINE] p.72. Available at: https://www.shecu.chula.ac.th/data/boards/272/คู่มือความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี.pdf. [Accessed 23 December 2019].