This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพุธ, 06 ตุลาคม 2564 09:05

จป. กับการขับเคลื่อนความปลอดภัยในงานก่อสร้าง

      หากดูสถิติประเภทกิจการก่อสร้างของกองทุนเงินทดแทน โดยจำแนกความรุนแรงและหมวดประเภทกิจการปีพ.ศ2562 (ขอบคุณข้อมูลสถิติกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม) พบว่า  งานก่อสร้างเป็นกิจการที่มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานมากที่สุด  และหากดูสถิติย้อนหลัง10ปีที่ผ่านมาก็จะพบอีกว่า งานก่อสร้างเป็นหนึ่งในกิจการที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและรุนแรงสูงอยู่ในดับต้นๆเรื่อยมา  สร้างความสูญเสียในทุกมิติ 

      ถึงแม้งานก่อสร้างจะมีกฏหมายบังคับอย่างชัดเจน  ตัวอย่างเช่น  กฏกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯพ.ศ.2549  เป็นกฏหมายฉบับหนึ่งที่ออกมาเพื่อให้นายจ้าง ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน และคาดหวังให้สถานประกอบกิจการดำเนินการตามกฏหมายอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์  ซึ่งในตัวกฏหมายได้แบ่งประเภทกิจการหรือสถานประกอบการ  ที่กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานและคณะกรรมการความปลอดภัยฯของสถานประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์    งานก่อสร้างเป็นกิจการลำดับ3 ที่กฏหมายบังคับ   หากพูดถึงจป.สายงานก่อสร้างแล้ว ก็ต้องมีทักษะความรู้ความสามารถหลากหลายด้านพอสมควร และต้องเรียนรู้ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมในสถานประกอบกิจการที่ตนเองปฏิบัติงาน  รวมถึงต้องพัฒนาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ  พร้อมรับมือและแก้ปัญหากับสถานการณ์ในแต่ละวันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่นอันตรายที่เปลี่ยนไปและความเสี่ยงของสภาพแวดล้อมใหม่ๆที่เกิดขึ้น   การใช้จิตวิทยาและการปรับตัวก็เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น   ซึ่งงานก่อสร้างมีความแตกต่างจากงานในโรงงาน  ที่มักมีกิจกรรมการทำงานแบบประจำ ซ้ำๆ เดิมๆ  มีระบบ ระเบียบค่อนข้างตายตัว   ฉะนั้นจป.สายก่อสร้างเป็นสายงานที่ถือได้ว่าถ้าใครผ่านสายงานนี้มา ก็จะเป็นผู้ที่มีศักยภาพรอบด้านในระดับหนึ่งเลยทีเดียว   แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องคิด

      วิเคราะห์งานความปลอดภัยอย่างเป็นระบบให้สมบูรณ์แบบมากที่สุด เสมือนการสร้างบ้านดีๆสักหลังหนึ่ง จะต้องรู้ตั้งแต่การเตรียมงาน ทรัพยากรที่จะใช้    อันไหนทำก่อน-หลังและ อื่นๆที่ได้วางแผนไว้  เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาตรงตามเป้าหมายที่ได้วางไว้      ดังนั้นขอเสนอแนวคิด จป กับการขับเคลื่อนความปลอดภัยในงานก่อสร้าง โดยมีดังต่อไปนี้  

  1. มีองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยที่ถูกต้อง รอบด้าน มีความเข้าใจในงานอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องสายอาชีพงานก่อสร้าง ทั้งคน เครื่องจักร และสภาพแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การเตรียมงานก่อนเริ่มงานก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้าง จนถึงส่งมอบงาน  สามารถอธิบายเสนอแนะทางเลือกและวิเคราะห์ให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานหลากหลายมุมมอง  โดยใช้เหตุและผล สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี

  2. กระตุ้นการสร้างจิตสำนึก ทัศนคติ ด้านความปลอดภัยให้แก่องค์กรและพนักงาน สามารถชี้ให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งบวกและเชิงลบ กระตุ้นให้พนักงานได้คิดถึงผลดีก่อนลงมือปฏิบัติงานและบอกถึงผลที่จะตามมาหากไม่ปฏิบัติ ทำให้เกิด “วัฒนธรรมความปลอดภัย”( Safety Culture)

  3. ผลักดันให้เกิดปฏิบัติที่ดีและถูกต้องตามมาตรฐาน อย่างจริงจังและสม่ำเสมอ รวมทั้งปรับปรุงและควบคุมสิ่งที่เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ประคับประคองสิ่งที่เป็นมาตรฐานที่ดี และชมเชยผู้ที่เป็นแบบอย่างปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย เพื่อเป็นกำลังใจ ให้ทุกคนหันมาปฏิบัติที่ดีอย่างยั่งยืนภายในองค์กร

     นอกจากแนวคิดที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว  สิ่งสำคัญจะต้องอาศัยการสนับสนุนและส่งเสริมด้านความปลอดภัยจากนายจ้างและความร่วมมือภายในองค์กร เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ขององค์ประกอบให้ได้ขับเคลื่อนไปทั้งระบบ  ทั้งหมดนี้ไม่เพื่อคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อทุกคนที่มาทำงานแล้วปลอดภัยและกลับบ้านไปหาครอบครัวที่เขารัก ในทุกๆวัน

“จะมีสักกี่อาชีพในโลกที่ต้องดูแล และห่วงใยคนแปลกหน้า เหมือนคนในครอบครัว 

และจะมีอาชีพไหนบ้างที่ทุกๆการทำงานยังได้สร้างบุญเพื่อช่วยเหลือชีวิตไม่ให้เกิดการ บาดเจ็บ พิการและเสียชีวิต“

 

บทความโดย : 

นายเบญจมินทร์  หมื่นแสน

ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ64

Read 4539 times Last modified on วันพุธ, 06 ตุลาคม 2564 09:13

บทความที่ได้รับความนิยม