This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันศุกร์, 19 พฤศจิกายน 2564 09:42

การฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน ตามมาตรา 16 (พรบ.ความปลอดภัยฯ)

          ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม การบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่ดีของผู้บริหารเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินนโยบาย และแผนงานด้านความปลอดภัยให้เกิดขึ้น และปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานสำเร็จ คือ บุคลากรที่มีคุณภาพ การได้มาซึ่งบุคลากรที่มีคุณภาพย่อมเกิดจากการสร้างความรู้ความเข้าใจอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิบัติงานและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายขององค์กร

        พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554  มีเจตนารมณ์ เพื่อให้ความคุ้มครองด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้แก่ลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ซึ่งมีการนำเทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ สารเคมี และสารเคมีอันตรายมาใช้ในกระบวนการผลิต การก่อสร้าง และบริการ จึงได้กำหนดมาตรการควบคุม กำกับ ดูแล และการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน สำหรับการป้องกันและสงวนรักษาทรัพยากรบุคคลอันเป็นกำลังสำคัญของชาติไว้ โดยในมาตรา 16 กำหนดว่า

         “ให้นายจ้างจัดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน เพื่อให้บริหารจัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานได้อย่างปลอดภัย ในกรณีที่นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทํางาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทํางาน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งอาจทําให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัยให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมลูกจ้างทุกคนก่อนการเริ่มทํางาน การฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด”

        ซึ่งมีเจตนารมณ์ เพื่อให้ลูกจ้างทุกคนในสถานประกอบกิจการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน ตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง โดยกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีการฝึกอบรมดังกล่าว ให้เป็นไปตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการฝึกอบรมผู้บริหาร หัวหน้างานและลูกจ้างด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ลงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการ หลักสูตร และคุณสมบัติวิทยากร ไว้ดังนี้

หลักเกณฑ์การฝึกอบรม

  • ลูกจ้างทุกคนที่ต้องได้รับการฝึกอบรมตามประกาศฉบับนี้ ประกอบด้วยลูกจ้างระดับบริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนในสถานประกอบกิจการ โดยให้หมายความรวมไปถึงในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งรับเข้ามาทํางานใหม่ ลูกจ้างที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เปลี่ยนลักษณะการทำงาน เปลี่ยนหน้าที่  เปลี่ยนสถานที่ทํางาน หรือกรณีที่นายจ้างมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์การทำงาน ซึ่งทำให้มีปัจจัยเสี่ยงแตกต่างไปจากเดิม ที่อาจทําให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย

  • การดำเนินการฝึกอบรมลูกจ้างดังกล่าว ต้องจัดให้มีและดำเนินการแล้วเสร็จก่อนที่ลูกจ้าง  แต่ละรายจะเริ่มทํางาน เช่น บริษัทฯ รับลูกจ้างเข้ามาทำงานใหม่ในแผนกซ่อมบำรุง ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ดังนั้น ก่อนที่จะส่งลูกจ้างไปทำงานในแผนกซ่อมบำรุง ต้องจัดให้ลูกจ้างผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรที่กำหนดไว้  ตามประกาศฉบับนี้ให้แล้วเสร็จก่อนที่ลูกจ้างจะไปเริ่มทำงานในแผนกซ่อมบำรุง หรือภายใน หกสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ กล่าวคือ ประกาศนี้ลงประกาศในราชกิจจานุเษกษา เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕ มีผลใช้บังคับกับสถานประกอบกิจการในวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ดังนั้นภายในระยะเวลา 60 วัน คือ ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 (กรณีนี้ สำหรับระยะแรกของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้เท่านั้น)

  • ลูกจ้างที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องอบรมตามประกาศฉบับนี้ คือ

       (1)  ลูกจ้างระดับบริหาร ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทํางานระดับบริหาร หรือลูกจ้างระดับหัวหน้างานที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทํางานระดับหัวหน้างาน ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทํางาน ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 และประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทํางาน ลงวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ก่อนหรือหลัง วันที่กฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2549 มีผลใช้บังคับ และผ่านการฝึกอบรมก่อนประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการฝึกอบรมผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ลงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 มีผลใช้บังคับ คือ ก่อนวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ให้ถือว่าลูกจ้างผู้นั้นผ่านการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน สําหรับลูกจ้างระดับบริหาร และหัวหน้างาน ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 แล้ว

       (2)  ลูกจ้างที่ผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับข้อบังคับว่าด้วยความปลอดภัยในการทํางานของสถานประกอบกิจการ ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2549 ก่อนวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ให้ถือว่าลูกจ้างผู้นั้นผ่านการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน สําหรับลูกจ้างทั่วไปและลูกจ้างเข้าทํางานใหม่ตามประกาศฉบับนี้ เช่นกัน

  • ผู้ที่สามารถดำเนินการฝึกอบรมลูกจ้างตามประกาศฉบับนี้ คือ นายจ้างสามารถจัดการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการของตนเองได้ โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หลักสูตรและต้องใช้วิทยากรที่มีคุณสมบัติตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนด หรือจะให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน หรือหน่วยงานให้บริการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงานที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกําหนดหรือยอมรับ

  • ผู้จัดการฝึกอบรม ต้องดําเนินการตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(1) จัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเข้ารับการฝึกอบรมเต็มเวลาตลอดหลักสูตร

(2) จัดให้ห้องฝึกอบรมหนึ่งห้องมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่เกินหกสิบคน

(3) จัดให้มีการวัดผลและประเมินผลผู้เข้ารับการฝึกอบรม

(4) ออกหลักฐานแสดงการผ่านการฝึกอบรมให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม

(5) กรณีนายจ้างดำเนินการฝึกอบรมเอง ต้องเก็บหลักฐานการฝึกอบรม เช่น ทะเบียนรายชื่อลูกจ้างซึ่งผ่านการอบรม วัน เวลา และสถานที่อบรม พร้อมลายมือชื่อของวิทยากรผู้ทําการอบรมไว้ในสถานประกอบกิจการ หรือสถานที่ที่ลูกจ้างทํางาน พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้ด้วย

หลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน ตามมาตรา 16 มีทั้งหมด 4 หลักสูตร คือ

หลักสูตร

ระยะเวลาฝึกอบรม

 1. หลักสูตรสําหรับลูกจ้างระดับบริหาร

12 ชั่วโมง

 2. หลักสูตรสําหรับลูกจ้างระดับหัวหน้างาน

12 ชั่วโมง

 3. หลักสูตรสําหรับลูกจ้างทั่วไปและลูกจ้างเข้าทํางานใหม่

6 ชั่วโมง

 4. หลักสูตรสําหรับลูกจ้างเปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทํางานหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์

3 ชั่วโมง

 

คุณสมบัติของวิทยากร ต้องมีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

คุณสมบัติ

ระยะเวลา

ประสบการณ์การเป็นวิทยากร

หลักสูตรฝึกอบรม สําหรับลูกจ้างทั่วไปและลูกจ้างเข้าทํางานใหม่    
หลักสูตรฝึกอบรม สําหรับลูกจ้างเปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทํางานหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์    
1.เป็นผู้ซึ่งมีความรู้และมีประสบการณ์ในการทํางานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิชาที่บรรยาย ไม่น้อยกว่า 1 ปี

ด้านความปลอดภัยฯ ไม่น้อยกว่า 1 ปี

     

2.หรือเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงเกี่ยวกับการพัฒนาองค์ความรู้ หรือมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทํางาน

 ไม่น้อยกว่า 1 ปี

ด้านความปลอดภัยฯ ไม่น้อยกว่า 1 ปี

     
     

หลักสูตรฝึกอบรม สําหรับลูกจ้างระดับหัวหน้างาน

 

 

หลักสูตรฝึกอบรม สําหรับลูกจ้างระดับบริหาร    
1. เป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาที่สําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า โดยสอนวิชาด้าน  ความปลอดภัยในการทํางาน ไม่น้อยกว่า 3 ปี

ด้านความปลอดภัยฯ ไม่น้อยกว่า 1 ปี

     
2. เป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัย หรือเทียบเท่า หรือผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรพนักงานตรวจความปลอดภัยของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ไม่น้อยกว่า 3 ปี

ด้านความปลอดภัยฯ ไม่น้อยกว่า 1 ปี

 

             เป็นอย่างไรบ้างค่ะ สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการฝึกอบรมผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554  หากท่านมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2448 9128-39 ต่อ 314 หรือ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือ www.facebook.com/oshthai

บทความโดย

โดย นางกรกนก  แก้วสุขแท้  นักวิชาการแรงงานชำนาญการ

กลุ่มงานมาตรฐานการบริหารงานความปลอดภัยในการทำงาน กองความปลอดภัยแรงงาน

 

Read 37913 times Last modified on วันศุกร์, 19 พฤศจิกายน 2564 10:32

บทความที่ได้รับความนิยม