This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันอังคาร, 16 สิงหาคม 2565 13:17

การควบคุมแหล่งพลังงานไฟฟ้าให้ปลอดภัยด้วยระบบล็อกและระบบป้ายเตือน (Lock-Out / Tag-Out ; LOTO)

     แหล่งพลังงาน (Energy Source)   หมายถึง แหล่งพลังงานใด ๆ เช่น พลังงานไฟฟ้า พลังงานกล พลังงานลม แรงดัน สารเคมี ความร้อน หรือพลังงานอื่น ๆ ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงพลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งอาจทำอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานในระหว่างการปฏิบัติงานซ่อมบำรุงหรืองานวิศวกรรมกับเครื่องจักร/อุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องแหล่งพลังงานไฟฟ้า โดยปลดปล่อยพลังงานไฟฟ้าอย่างไม่คาดคิด และมีผลทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อบุคคล ทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น อันตรายจากไฟฟ้า (Electrical Hazards) จะเกิดขึ้นเมื่อตัวนำหรือส่วนประกอบอื่นใดที่มีพลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน เมื่อเกิดการสัมผัสอย่างไม่ตั้งใจแล้ว ทำให้เกิดไฟดูดที่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บต่อบุคคล หรือเกิดไฟช๊อตที่ส่งผลให้ทรัพย์สินเสียหายได้

     ระบบล็อกและระบบป้ายเตือน (Lock-Out / Tag-Out)    หรือเรียกสั้นๆว่า LOTO หมายถึง ระบบการตัดแยกแหล่งพลังงานที่เป็นอันตรายและการกำจัดแหล่งพลังงานที่อาจจะหลงเหลืออยู่ รวมไปถึงการติดตั้งอุปกรณ์ล็อกและควบคุมอุปกรณ์ตัดแยกแหล่งพลังงานที่เป็นอันตราย ณ จุดที่ทำการตัดแยก (Isolation Point) และต้องมีการติดป้ายเตือนแสดงความเป็นอันตราย ซึ่งนำไปติดไว้ที่อุปกรณ์ตัดแยกหรือจุดที่ล็อกกุญแจ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงการตัดแยกและควบคุมแหล่งพลังงานไฟฟ้า (Electrical) ในระบบของกระบวนการผลิตและการบริการก่อนที่จะเริ่มทำงานที่มีโอกาสสัมผัสอันตรายจากแหล่งพลังงานนั้นเป็นการป้องกันการเชื่อมต่อพลังงานโดยไม่ตั้งใจ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งขณะที่มีการซ่อมบำรุง ซ่อมแซม หรือทำความสะอาดเครื่องจักร หรืออุปกรณ์นั้น ๆ เป็นระบบที่นิยมนำมาใช้ในการควบคุมอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตรวจสอบและซ่อมบำรุงเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า เช่น การปิดเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Off Circuit Breaker) การปลดแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า หรือแหล่งจ่ายสัญญาณควบคุม สวิตซ์ไฟ ปลั๊กไฟ และอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า 

รูปแสดงวิธีการควบคุมการตัดแยกพลังงานไฟฟ้าของสวิตซ์ตัดแยกด้วยวิธีการล็อกกุญแจและแขวนป้าย

      

รูปแสดงตัวอย่างอุปกรณ์ตัดแยกพลังงานไฟฟ้า : เซอร์กิตเบรกเกอร์ไฟฟ้า

 

รูปแสดงตัวอย่างอุปกรณ์ตัดแยกพลังงานไฟฟ้า : สวิตซ์ตัดแยก (Disconnecting Switch)

รูปแสดงตัวอย่างการตัดแยกและระบบควบคุมการตัดแยกพลังงานไฟฟ้า : ปลั๊กไฟ

รูปแสดงตัวอย่างการตัดแยกและระบบควบคุมการตัดแยกพลังงานไฟฟ้า : สวิตซ์ไฟ

 

         ระบบล็อก (Lockout System) หมายถึง กระบวนการที่ใช้ในการควบคุมการตัดแยกพลังงานไฟฟ้าที่เป็นต้นกำเนิดของแหล่งพลังงานไฟฟ้า โดยใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการล็อก โดยนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปติดตั้งไว้ที่ตำแหน่งอุปกรณ์ตัดแยกพลังงาน (Energy Isolation Device) ของต้นกำเนิดพลังงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและพลังงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตัดแยกแหล่งพลังงานนั้น สามารถป้องกันการปฏิบัติงานแบบไม่ตั้งใจได้

รูปแสดงตัวอย่างอุปกรณ์การล็อกเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Electrical Lockout)

         ระบบป้ายเตือน (Tag Out System) หมายถึง ระบบที่ใช้ในการเตือนอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อสื่อสารว่าเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ถูกตัดแยกนั้นจะไม่สามารถใช้งานได้จนกว่าจะมีการปลดระบบควบคุมการตัดแยกและป้ายเตือนออก โดยมีลักษณะเป็นแผ่นป้ายข้อความเตือนอันตราย เช่น ป้ายเตือนห้ามเดินเครื่องจักร (Do Not Operate) ห้ามเปิดเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Do Not Turn on Circuit Breaker) เป็นต้น และการแขวนป้ายเตือนอันตรายนั้นต้องคำนึงถึงความมั่นคง แข็งแรง และทนต่อสภาพแวดล้อมการทำงานในขณะนั้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าป้ายเตือนอันตรายนั้นจะไม่ถูกทำลาย หรือสูญหายจากจุดเตือนอันตรายได้โดยง่าย

รูปแสดงตัวอย่างป้ายเตือน (Tagout)

ขั้นตอนการปฏิบัติของระบบล็อกและระบบป้ายเตือน (Lock-Out / Tag-Out ; LOTO)

  1. เตรียมการปิดระบบ (Preparation for Shutdown) ก่อนที่ทำการปิดการทำงานของเครื่องจักร จะต้องมีความรู้และตัดสินใจได้ว่าแหล่งพลังงานนั้นเป็นแหล่งพลังงานชนิดใด อันตรายจากแหล่งพลังงานที่จะต้องถูกควบคุมมีอะไรบ้าง รวมทั้งจะควบคุมอันตรายนั้นอย่างไร

  2. ปิดเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ (Machine or Equipment Shutdown) การปิดการทำงานของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ในระบบจะช่วยหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน ในขณะตรวจสอบและซ่อมบำรุง

  3. การตัดแยกเครื่องจักร (Machine Isolation) อุปกรณ์การตัดแยกแหล่งพลังงานไฟฟ้า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับใช้ควบคุมพลังงานของเครื่องจักรและตัดแยกออกจากแหล่งพลังงาน โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดแยกจะช่วยปิดระบบทำให้เกิดความปลอดภัย เช่น เบรกเกอร์ สวิตซ์ เป็นต้น

  4. อุปกรณ์ระบบล็อกและระบบป้ายเตือน (Lock Out/Tag Out Device Application) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดแยกพลังงานไฟฟ้าประกอบไปด้วยอุปกรณ์ล็อกและระบบป้ายเตือนซึ่งใช้งานโดยผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายหน้าที่เพียงผู้เดียวเท่านั้นและจะต้องติดอยู่กับตัวอุปกรณ์การตัดแยกระบบ จนกว่าการตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงจะแล้วเสร็จ

  5. การปล่อยหรือควบคุมพลังงานสะสม (Stored Energy Release/Restraint) หลังจากตัดแยกแหล่งพลังงานไฟฟ้าแล้ว ต้องพิจารณาถึงอันตรายของพลังงานไฟฟ้าที่ถูกสะสมอยู่หรือที่ยังคงเหลือภายในเครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีวิธีการควบคุมอันตรายนั้นด้วย

  6. การตรวจสอบ (Verification) เมื่อเริ่มทำงานกับเครื่องจักรที่มีการควบคุมพลังงานด้วยระบบล็อกและระบบป้ายเตือนผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติงาน จะต้องมีการตรวจสอบด้วยเครื่องมือทดสอบและด้วยสายตา

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการตัดแยกพลังงาน

           การตัดแยกพลังงานมีไว้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในตัวของผู้ปฏิบัติงานเองจากความพลั้งเผลอตลอดจนผู้ปฏิบัติงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง กฎกระทรวงจึงมุ่งหวังให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ลดการสูญเสียจากการซ่อมบำรุง หรือจากการปฏิบัติงาน ดังนั้นการตัดแยกพลังงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้

  • กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551
                  
    (ข้อ 23 ในระหว่างที่มีการทำงานติดตั้ง ตรวจสอบ ซ่อมแซม หรือซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้า ให้นายจ้างจัดให้มีการใช้กุญแจป้องกันการสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจร หรือจัดให้มีระบบระมัดระวังป้องกันมิให้ผู้ใดสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจรตลอดเวลาที่ทำงานดังกล่าว และติดป้ายแสดงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ห้ามสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจรไว้ด้วย)

  • กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ.2552
                  
    (ข้อ 4 ในบริเวณที่มีการติดตั้ง การซ่อมแซม หรือการตรวจสอบเครื่องจักรหรือเครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร นายจ้างต้องติดป้ายแสดงการดำเนินการดังกล่าว โดยใช้เครื่องหมายหรือข้อความที่เข้าใจง่ายและเห็นได้ชัดเจน รวมทั้งจัดให้มีระบบ วิธีการ หรืออุปกรณ์ป้องกันมิให้เครื่องจักรนั้นทำงาน และให้แขวนป้ายแสดงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ห้ามเปิดสวิตช์ไว้ที่สวิตช์ของเครื่องจักรด้วย)

  • กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ.2558
                  
    (ข้อ 15 ให้นายจ้างจัดให้มีการใช้กุญแจป้องกันการสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจร หรือจัดให้มีระบบระวังป้องกันมิให้เกิดการสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจรตลอดเวลาที่ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าทำงาน ติดตั้ง ตรวจสอบ ซ่อมแซม หรือซ่อมบํารุงระบบไฟฟ้าหรือบริภัณฑ์ไฟฟ้า และให้ติดป้ายแสดงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ห้ามสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจรไว้ด้วย)

  • กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. 2562
                  
    (ข้อ 11 กรณีที่ที่อับอากาศที่ให้ลูกจ้างทำงานมีผนังต่อหรือมีโอกาสที่พลังงาน สาร หรือสิ่งที่เป็นอันตรายจะรั่วไหลเข้าสู่บริเวณที่อับอากาศที่ทำงานอยู่ ให้นายจ้างปิดกั้นหรือกระทำโดยวิธีการอื่นใดที่มีผลในการป้องกันมิให้พลังงาน สารหรือสิ่งที่เป็นอันตรายเข้าสู่บริเวณที่อับอากาศในระหว่างที่ลูกจ้างกำลังทำงาน)

  • กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2564
                  
    (ข้อ 53 การใช้ลิฟต์ขนส่งวัสดุชั่วคราว ลิฟต์โดยสารชั่วคราว หรือลิฟต์ที่ใช้ทั้งขนส่งวัสดุและโดยสารชั่วคราว นายจ้างต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน
                          (5) ในกรณีที่ลิฟต์ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่มีผู้บังคับลิฟต์ ต้องปิดสวิตช์ พร้อมทั้งใส่กุญแจและติดป้ายห้ามใช้ลิฟต์ให้ลูกจ้างทราบ)

               นอกจากกฎกระทรวงฯ ข้างต้นแล้ว ยังมีมาตรฐาน OSHA ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ OSHA 1910.147 The Control of Hazardous Energy (Lockout/Tagout) ที่นิยมใช้เป็นข้อกำหนด ขั้นตอนระเบียบแบบแผนหลัก เพื่อให้เกิด Plant Isolation เป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นระหว่างการซ่อมบำรุง ซึ่งมีการลงรายละเอียดปลีกย่อย ในขั้นตอนการปฏิบัติตั้งแต่การล๊อกแหล่งจ่ายพลังงาน (Lock-Out) การทำให้ระบบปลอดจากพลังงาน (Zero Energy) การแขวนป้าย (Tag-Out) การปลดจากการล๊อก เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ ฝึกฝน มีการปฏิบัติ เข้าใจในหลักการ วิธีการ จุดที่จำเป็นต้องมีการล๊อก เพราะว่าระบบหรืออุปกรณ์ในแต่ละชนิดแต่ละสถานที่ปฏิบัติงานไม่เหมือนกัน หลักสำคัญในการล๊อกคือ “ผู้อื่นต้องเข้าใจโดยง่ายด้วย” ทำให้เกิดความซับซ้อนน้อยที่สุดที่เป็นไปได้ เพื่อลดการเกิดข้อบกพร่องในการล๊อกที่ยากต่อการเข้าใจ

ที่มา

  • สาระน่ารู้เกี่ยวกับทางด้านความปลอดภัย สำนักความปลอดภัยแรงงาน กระทรวงแรงงาน
  • แนวปฏิบัติการตัดแยกพลังงาน ระบบล็อกและระบบป้ายเตือน (Isolation of Energy, Lock-out / Tag-out); (สสปท.3-1-00-01-2564) , สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)

 

Read 10750 times Last modified on วันอังคาร, 16 สิงหาคม 2565 14:27

บทความที่ได้รับความนิยม