แรงงานนอกระบบ คือ ผู้ใช้แรงงานที่ทำงาน โดยไม่มีสัญญาจ้างงานอย่างเป็นทางการ หรือเป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ทำงานชั่วคราว ถือได้ว่าเป็นแรงงานกลุ่มเปราะบาง ด้านการคุ้มครองแรงงานและความปลอดภัย ทั้งจากรายได้ที่ไม่แน่นอน หลักประกันสังคมของรัฐที่เพียงพอ และลักษณะงานที่มีความเสี่ยงที่พร้อมก่อให้เกิดอุบัติเหตุและเจ็บป่วยได้ตลอดเวลา รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพหลายประการ เช่น การทำงานต้องสัมผัสความร้อน การทำงานกลางแจ้ง ทำงานที่สัมผัสสารเคมี การทำงานที่ต้องยกของหนัก การทำงานในท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม
กลุ่มแรงงานนอกระบบ อาทิ กลุ่มจักสานไม้ไผ่ กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มต้นไม้มงคล กลุ่มแปรรูปข้าว พบว่าประเด็นหลักมักพบว่า ผู้ใช้แรงงานไม่ได้เล็งเห็นหรือให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานและสุขภาพของตนเองเท่าที่ควร ปัญหาที่พบคล้ายคลึงกันทุกกลุ่มคือ เรื่องของท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีผลต่อสุขภาพเกิดอาการปวดเมื่อย เจ็บป่วย ถัดมาก็จะเป็นเรื่องของการใช้อุปกรณ์ในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานในกลุ่มแรงงานนอกระบบ
ขอนำเสนอแนวทางการทำงาน เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายจากการทำงานด้วยตนเองเบื้องต้น โดย
- ตรวจสอบสถานที่ พื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์ ต้องมีแสงสว่างเพียงพอ ณ พื้นที่ทั่วไปและเฉพาะจุด และบริเวณพื้นที่ทำงานเรียบไม่ขรุขระ
- ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ ให้มั่นใจว่ามีความพร้อมที่จะใช้งานไม่ชำรุด แตกหัก และอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย เช่น มีด คีม จักรเย็บผ้า ถังแก๊ส
- มั่นใจว่าอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า มีการเชื่อมต่อสายไฟ/ปลั๊กไฟ การต่อสายดิน อย่างปลอดภัย
- ควรแน่ใจว่า มีการใช้อุปกรณ์เป็นไปตามที่ออกแบบเพื่อการใช้งานของอุปกรณ์นั้นๆ โดยไม่มีการดัดแปลงการใช้งาน
- ควรจัดวางอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ให้อยู่ในระยะที่สะดวกต่อการหยิบใช้งาน และจัดเก็บอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบ หลังใช้งาน
- สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) ตลอดเวลาการปฏิบัติงาน ที่เหมาะสม และถูกต้องตามลักษณะความเสี่ยงของงาน เช่น ผ้าปิดปากปิดจมูก แว่นตา ที่อุดหู รองเท้าพื้นยาง เอี๊ยมป้องกันฝุ่น
- หลีกเลี่ยงการทำงานในขณะที่ร่างกายไม่พร้อม เช่น มีอาการง่วง หรืออ่อนเพลีย
- หลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือหยอกล้อกันขณะใช้อุปกรณ์ของมีคม มีด กรรไกร เครื่องตัดผ้า ฯลฯ
- การนั่งทำงานบนเก้าอี้ ต้องเป็นเก้าอี้ที่มีพนักพิงหลัง ปรับระดับเก้าอี้ให้เหมาะสม (อาจใช้เบาะรองนั่งหรือหมอนใบเล็ก กรณีที่ไม่สามารถปรับระดับความสูงได้) รวมทั้งเก้าอี้ต้องมีความมั่นคงแข็งแรง และรองรับน้ำหนักที่เหมาะสม
- ควรเปลี่ยนท่าทางการทำงาน เมื่อรู้สึกปวดเมื่อย ไม่ควรนั่งทำงานนานติดต่อกัน เกิน 2 ชั่วโมง มีการพักยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุก 2 ชั่วโมง
- ไม่ยกของหนักเกินกำลัง และหาผู้ช่วยในการยก เคลื่อนย้ายวัสดุ
บทความโดย : เยาว์วพา แดงบรรจง ศูนย์ส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยภูมิภาค (ภาคใต้)