แนวทางจัดการความปลอดภัยในที่อับอากาศ สำหรับแรงงานนอกระบบ
แนวทางปฏิบัติความปลอดภัยในที่อับอากาศสำหรับแรงงานนอกระบบนี้ โดยได้เขียนถึงวิธีดำเนินงานให้สอดคล้องตามกฎหมาย คือ ในพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 3 วรรค 2 กำหนดไว้ 2 ส่วน คือ ให้ส่วนราชการต่างๆ คือ ต้องจัดให้มี มาตรการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในหน่วยงานของตน ไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และแนวปฏิบัติในกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. 2562
“ที่อับอากาศ” หมายความว่า ที่ซึ่งมีทางเข้าออกจำกัดและไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับเป็นสถานที่ทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ และ 1.มีสภาพอันตราย และ/หรือ 2.มีบรรยากาศอันตราย อย่างใดอย่างหนึ่งหรือมีทั้งสองอย่างเช่น อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ หลุม ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก ถัง ไซโล ท่อ เตา ภาชนะหรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
แรงงานนอกระบบ(Informal Sector) หมายถึง “ผู้ที่ทำงานส่วนตัวโดยจะมีลูกจ้างหรือไม่ก็ได้ หรือลูกจ้างที่ไม่มีประกันสังคมหรือสวัสดิการพนักงานของรัฐ”โดยแรงงานนอกระบบของไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานในภาคเกษตร
จากสถิติอุบัติเหตุในที่อับอากาศนั้น ที่เคยเกิดขึ้น เช่น
• 11 ก.ค. 2564 คนเสียชีวิตอยู่ในโรงเพาะเห็ด 3 ศพ
• 10 ก.ย. 2563 พ่อลูกเสียชีวิตในบ่อบาดาลพร้อมลูกชายคนเล็กและคนโตลงไปช่วย ก็เสียชีวิตทั้ง 3 ศพ
• 11 พ.ค.2560 สลด 3 ศพ ดับคาถังประปาหมู่บ้าน เพื่อนอีกคนลงไปช่วยเกือบหมดสติหนีทัน
• 26 ม.ค.2560 สยองกรุง โดยคนงานลงล้างบ่อบำบัด กลางตลาดสด และพบขาดอากาศตายสลด 4 ศพ
• 26 มี.ค.2560 สลด 4 ศพ โดยช่างระบบท่อน้ำเสียเจอแก๊สไข่เน่าหมดสติไปก่อน 1 คน เพื่อนลงไปช่วย ดับอีก 3 ศพ
• 27 พ.ค. 2555 ลูกจ้างในบ่อหมักไบโอก๊าซ เสียชีวิต 5 ราย ทั้งที่เป็นบ่อเปิดกว้างๆ
จากอุบัติเหตุในแต่ละครั้งนี้ คาดว่า ผู้ปฏิบัติงานขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยฯ ในพื้นที่ที่อับอากาศที่ดีพอ ขาดอุปกรณ์ที่จำเป็นที่ต้องใช้ในระหว่างการทำงานในพื้นที่อับอากาศ ความเข้มงวดตามมาตรการความปลอดภัยฯ
การทำงานในพื้นที่ “ที่อับอากาศ” มักพบได้ทั้งการประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เช่น สถานประกอบกิจการ โรงงานต่างๆ และการประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม เช่น การทำไร่นา ฟาร์ม ซึ่งความปลอดภัยในการทำงานในพื้นที่ที่อับอากาศ ในการประกอบอาชีพภาคเกษตรกรรม โดยมักพบความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายต่อชีวิตจาก
- อันตรายจากก๊าซพิษ เช่น ก๊าซไข่เน่า (H2S) ซึ่งอาจเกิดได้จากการทับถมของซากพืช ซากสัตว์ หรือบ่อน้ำเสีย ซึ่งมักพบในบริเวณที่เป็นบ่อเก่า หลุมเก่า ท่อระบายเก่า ร่องน้ำ
- อันตรายจากการขาดอากาศหายใจ (ออกซิเจน) เช่น การทำงานในสถานที่ที่มีความลึก เช่น บ่อ หลุม ท่อ พื้นที่จำกัดอื่นๆ หรือในบางลักษณะงาน ยกตัวอย่างโรงเพาะเห็ดฟาง โดยขั้นตอนการการอบเชื้อเห็ดต้องปิดโรงเพาะเห็ดไว้ให้มิดชิดโดยใช้ผ้าใบคลุมมิดชิด จากนั้นจะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อัดเข้าไปในโรงเพาะเห็ด ประมาณ 3 วัน เพื่อทำให้โรงเห็ดไม่มีออกซิเจนเหลืออยู่ หากมีคนเข้าไปในช่วงเวลาดังกล่าวฯ อาจทำให้ขาดออกซิเจนหายใจ ซึ่งผู้ทำงานต้องศึกษาลักษณะงานในทำนองเดียวกัน และให้ความรู้ในการทำงานอย่างปลอดภัยฯ แก่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเช่นเดียวกันขึ้นอีก
ขอแนะนำขั้นตอนการทำงานในที่อับอากาศ อย่างปลอดภัย โดย
- จัดให้มีผู้ช่วย 1 หรือ 2 คนเฝ้าบริเวณปากทางขึ้น-ลง หรือเข้า-ออก ตลอดเวลา
- จัดให้มีบันไดสำหรับปีนขึ้น-ลงมีการใช้เ และ ชือกผูกที่เอวผู้ทำงาน หรือเชือกคล้องใต้รักแร้ทั้งสองข้างและมัดตรงกลางหลัง-ไหล่ ของผู้จะลงไปทำงานในบ่อ หลุม ท่อ ให้สื่อสารกันโดยการกระตุกเชือก ถามหรือโต้ตอบกันเป็นช่วงๆ ถ้ามีเหตุฉุกเฉินที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ให้ผู้ช่วยดึงขึ้นมา ห้ามลงไปช่วยเด็ดขาด
- ให้ตรวจสอบสภาพหรือประเมินบ่อ ท่อ หลุมเป็นการเบื้องต้น โดยให้ใช้ไม้ยาวๆกวนด้านล่างสุดของที่อับอากาศนั้นๆ แล้วให้สังเกตดูสีของน้ำ ถ้าสีของน้ำดำๆ เข้มๆ ข้นๆ มีแสงสะท้อนขึ้นมาและมีกลิ่นเหม็นรุนแรง เหมือนไข่เน่า ห้ามลงโดยเด็ดขาด ให้แก้ไขเบื้องต้นก่อน เช่น ใช้น้ำสะอาดเติมเทลงไปให้มากที่สุดลงไปเพื่อเจือจาง รวมถึงระบบระบายอากาศในพื้นที่ดังกล่าวฯ ที่เพียงพอ
- หากไม่มีเครื่องมือตรวจวัดปริมาณก๊าซ ในบริเวณบ่อแห้งๆ สังเกตว่าไม่มีน้ำขังก้นบ่อ สามารถตรวจหาปริมาณของก๊าซออกซิเจนที่ก้นบ่อ ให้จุดเทียนแล้วค่อยๆหย่อนเชือกลงไปที่ก้นหลุม หากเทียนดับแสดงว่ามีออกซิเจนไม่พอ ไม่ควรลงไป หากพบว่าก้นบ่อ มีน้ำน้อย มีสีดำข้น มีกลิ่นเหมือนไข่เน่า ไม่ควรใช้เทียนจุดหย่อนเด็ดขาด เพราะอาจติดไฟและระเบิดได้ เนื่องจากอาจมีสารเคมี H2S เป็นทั้งก๊าซพิษและก๊าซติดไฟ จะติดไฟระหว่าง 3 v/v – UEL45.5 v/v และสาร H2S จะหนักกว่าอากาศ คือมีความหนาแน่นที่ 1.4 kg/m3 จะอยู่ด้านล่างของบ่อ ท่อ หลุม.
ตัวอย่าง ที่อับอากาศ สำหรับแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ ภาคเกษตรกรรม เช่น บ่อน้ำบาดาล แท็งก์น้ำประปาของหมู่บ้าน โรงเพาะเห็ด ท่อหรือรางระบายน้ำ บ่อแก๊สชีวภาพ เป็นต้น
ขอฝากให้ทุกๆ ฝ่ายทั้งส่วนงานราชการ สถาบันการศึกษา สถานประกอบการในภาคต่างๆ มุ่งมั่นร่วมกันขับเคลื่อนในเชิงป้องกัน ในเรื่องของความปลอดภัยในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ควบคู่ไปพร้อมๆกับการพัฒนาด้านอื่นๆ ของประเทศไทยกันครับ
บทความโดย
นายไอศวรรย์ บุญทัน ที่ปรึกษาระบบมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยฯ สสปท.
อ้างอิงจาก
- พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๓ วรรค ๒
- กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๖๒