ในปี 2548 มีการลงนามความร่วมมือในการจัดตั้งคลินิกโรคจากการทำงานของโรงพยาบาล ระหว่าง สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
• ดูแลลูกจ้างที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยการตรวจรักษา วินิจฉัยโรคและให้การรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน
• เฝ้าระวัง/ป้องกัน และลดอุบัติเหตุจากการทำงานพร้อมให้คำปรึกษาและส่งเสริมงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานแก่สถานประกอบกิจการ
• สนับสนุนดำเนินการด้านการแพทย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. เงินทดแทน และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน
โดยการดำเนินงานในส่วนของคลินิกโรคจากการทำงานสามารถแบ่งออกเป็นระดับนโยบาย เครือข่ายโรงพยาบาล และ สถานประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้
1. คลินิกโรคจากการทำงานระดับนโยบาย
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคลินิกโรคจากการทำงานมากกว่า 100 แห่ง โดยได้ขยายพื้นที่ไปเกือบทุกจังหวัด และขยายไปยังชุมชน สถานประกอบกิจการ เพื่อให้ลูกจ้างได้รับการบริการทั้งในภาวะปกติ (เชิงรับ) และการเข้าไปทำงานร่วมกับสถานประกอบกิจการ (เชิงรุก) นอกจากนี้ ยังมีศูนย์เชี่ยวชาญโรคจากการทำงาน ซึ่งมีหน้าที่ในการศึกษาวิจัย มีการอบรมให้กับ จป. วิชาชีพ ลูกจ้าง และสามารถจัดบริการอาชีวอนามัยได้ครอบคลุมทุกกิจกรรม ทั้งนี้ได้กำหนดทิศทางในการพัฒนา ดังต่อไปนี้
ทิศทางในการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเป็น Heathy workplace
• สุขภาพและความปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน
• สุขภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตในมิติทางด้านจิตวิทยาและสังคมในองค์กร
• การดูแลสุขภาพในภาพรวมของพนักงาน โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงและวิถีชีวิต
• การมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพระหว่างสถานประกอบกิจการ พนักงาน ครอบครัว และประชาชนในชุมชน
ทิศทางในการพัฒนาการจัดบริการเพื่อการดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพ
• พัฒนาจากการบริการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยไปเป็นการดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพ
• เพิ่มเติมมิติเรื่องจิตวิทยาและสังคม การส่งเสริมสุขภาพ
• การพัฒนาบุคลากรทางด้านอาชีวอนามัย โดยเฉพาะในสาขาจิตวิทยา การฟื้นฟูสุขภาพ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
• การพัฒนาระบบบริการอาชีวอนามัยให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่คุณภาพ การเข้าถึงบริการ และครอบคลุมทุกกิจกรรม
ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน
• การบูรณาการการทำงานในหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ
• เพิ่มความเข้มแข็งในมาตรการทางกฎหมาย โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูง และแหล่งก่อมลพิษต่างๆ
• พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง
• พัฒนามาตรการในการป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นปัญหาดั้งเดิม สิ่งคุกคามใหม่ๆ และโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน
• พัฒนาระบบข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ
• ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในระดับชาตและระดับนานาชาติ
2. คลินิกโรคจากการทำงานกับเครือข่ายโรงพยาบาล
การบริการคลินิกโรคจากการทำงาน ช่วยส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู ให้คำปรึกษา และคำแนะนำต่างๆ แก่สถานประกอบกิจการ โดยใช้หลัก “Healthy Thailand เพื่อผู้ประกันตน” เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกันตนใส่ใจดูแลสุขภาพ ปราศจากโรค นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกายและใจ โดยใช้หลักการ 3H ดังนี้
• Helping การดูแลให้ลูกจ้างหรือผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายของกองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทนรักษาพยาบาล เช่น ตรวจสุขภาพก่อนเข้างาน ตรวจสุขภาพระหว่างงาน ตรวจวินิจฉัย/รักษาโรคจากการทำงาน/ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะโรค ตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไป ตรวจก่อนกลับเข้าทำงานหลังเจ็บป่วย ประเมินการสูญเสียสมรรถภาพกายและจิตใจ เป็นต้น
• Heathy การส่งเสริมให้มีสุขภาพดี โดยจัดให้มีกิจกรรมกีฬา ส่งเสริมการออกกำลังกาย กิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมลดละเลิกอบายมุข กิจกรรมศาสนสัมพันธ์ เป็นต้น
• Harmless การป้องกันโรคและลดอันตรายจากการทำงาน สามารถทำได้โดย ประเมินและวิเคราะห์ปัจจัย
ระบบงานและลักษณะงานที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ สร้างกระบวนการเฝ้าระวัง กำกับ ติดตามภาวะสุขภาพ ร่วมออกแบบการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงของลักษณะงาน เฝ้าระวังและสอบสวนโรค และสร้างเสริมพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงาน
จากสถิติกองทุนเงินทดแทนตั้งแต่ 2554-2558 โรคจากการทำงานที่ได้รับการชดเชยมากที่สุด ได้แก่ โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ รองลงมาเป็นโรคผิวหนัง โรคที่เกิดจากสารเคมี ตามลำดับ โดยการดำเนินงานของโรงพยาบาลสามารถแบ่งการบริการออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. การจัดบริการเชิงรับ สถานประกอบกิจการเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาล ดังนี้
• การตรวจสุขภาพ วินิจฉัยโรคจากการทำงาน
• การให้คำปรึกษา อาชีวสุขศึกษา Worker Health Center
• การตรวจด้วยเครื่องมือทางอาชีวเวชศาสตร์
2. การจัดบริการเชิงรุก โรงพยาบาลเข้าไปให้บริการในสถานประกอบกิจการ โดยมีกิจกรรมดังต่อไปนี้
• อบรมการป้องกันโรคจากการทำงาน เพื่อให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานที่ถูกต้องต้อง เช่น การอบรมด้านการยศาสตร์ หรือการทำงานกับสารเคมี เป็นต้น
• การเดินสำรวจสถานประกอบกิจการ เพื่อตรวจสอบ และประเมินความเสี่ยงการทำงาน และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่พนักงาน และให้คำแนะนำแก่สถานประกอบกิจการ
• การออกหน่วยตรวจสุขภาพ จัดให้มีการตรวจสุขภาพให้กับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการ
• การเฝ้าระวังโรคจากการทำงาน มีการติดตามและเฝ้าระวังอาการพนักงานในพื้นที่สถานประกอบกิจการ
• การสอบสวนโรคจากการทำงาน เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง โดยเน้นบริเวณที่เกิดเหตุ หรือในสถานที่ทำงาน
3. คลินิกโรคจากการทำงานกับสถานประกอบกิจการ
การดำเนินงานคลินิกโรคจากการทำงานในสถานประกอบกิจการ สามารถทำได้โดยการร่วมมือกับโรงพยาบาลเครือข่าย และมีการจัดตั้งคณะทำงาน และกำหนดบทบาทหน้าที่แต่ละส่วนงานให้ชัดเจน ซึ่งหน่วยงานในสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องในการร่วมมือการดำเนินงานการจัดตั้งคลินิกโรคจากการทำงาน ประกอบด้วย 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
• ห้องพยาบาล มีหน้าที่ในการรักษา ให้คำแนะนำแก่พนักงานที่เป็นโรคจากการทำงาน
• หน่วยงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กำหนดแนวทางในการฏิบัติงานอย่างปลอดภัย
• คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน สื่อสารแนวทางต่างๆ ให้พนักงานทุกคนรับทราบ
โดยในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคลินิกโรคจากการทำงานนั้น สามารถพิจารณาได้จากฐานข้อมูลของสถานประกอบกิจการ เช่น ผลการตรวจสุขภาพประจำปี ผลการตรวจสภาพแวดล้อมในการทำงาน การใช้บริการของห้องพยาบาล การรายงานข้อมูลโรคอุบัติใหม่ (Covid – 19) หรือข้อมูลการเป็นโรคจากสารเคมี เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะสามารถบอกได้ว่าพนักงานมีความเสี่ยงในเรื่องใดบ้าง และจะหามาตรการป้องกันและควบคุมได้อย่างไร โดยมีตัวอย่างกิจกรรมที่ได้ดำเนินการในสถานประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้
• กิจกรรมเกี่ยวกับโรคจากสารเคมี มีการใช้ PPE ให้เหมาะสมตามลักษณะงาน ให้แพทย์มาตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง และให้ความรู้เกี่ยวการปฏิบัติงานกับสารเคมี
• กิจกรรมเกี่ยวกับโรค COVID-19 เช่น มีการเฝ้าระวังโรค Covid 19 โดยมีการรายงานข้อมูลผู้ป่วยประจำวัน และมีการบันทึกการสังเกตุอาการของกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น
• โครงการช่วยลด เลิกบุหรี่ เช่น ลดพื้นที่การสูบบุหรี่ 50% ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ อบรมให้ความรู้แก่พนักงาน การประเมินภาวะสุขภาพ วัดความดันโลหิต เป่า CO ในร่างกาย มีการติดตามทุกสัปดาห์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการให้รางวัล เกีบรติบัตรให้กับพนักงาน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลด เลิกการสูบบุหรี่
• โครงการเสริมสร้างสุขภาพพนักงาน เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ หรือการวัดดัชนีมวลกาย เป็นต้น
ดังนั้น จะเห็นว่าคลินิกโรคจากการทำงานช่วยเพิ่มการรับรู้ การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยของลูกจ้าง และเพิ่มการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน ซึ่งลูกจ้างทุกคนสามารถใช้บริการคลินิกโรคจากการทำงาน โดยเป้าหมายเพื่อทำให้ลูกจ้างเกิดความปลอดภัย และทำงานได้อย่างมีความสุข และมีประสิทธิภาพ
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม
ขั้นตอนการเข้ารับบริการคลินิกโรคจากการทำงาน
กรณีลูกจ้างสงสัยว่าเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงาน
- ลูกจ้างสามารถเข้ารับบริการตรวจวินิจฉัยได้ที่คลินิกโรคจากการทำงาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- นายจ้างยื่นแจ้งการประสบอันตรายตามแบบ กท.16 ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัดที่ประจำทำงาน เพื่อขอหนังสือส่งตัวไปยังโรงพยาบาล
- เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่เลือกไว้และมีคลินิกโรคจากการทำงาน สามารถเข้ารับบริการได้ทันที
กรณีลูกจ้างเข้ารับการตรวจวินิจฉัย โดยไม่ได้แจ้งการประสบอันตราย
- หากพบว่าลูกจ้างเจ็บป่วยจากการทำงาน นายจ้างยื่นแบบการประสบอันตราย (กท.16) ต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน 15 วัน และยื่นแบบ กท.44 ให้โรงพยาบาลเพื่อให้โรงพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในส่วนของกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม
- หากพบว่าลูกจ้างไม่เจ็บป่วยจากการทำงาน ลูกจ้างไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากกองทุนเงินทดแทนให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่โรงพยาบาลแล้ว
สามารถตรวจสอบรายชื่อคลินิกโรคจากการทำงานได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th