This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2562 14:21

สถานการณ์การเสียชีวิตและมาตรการป้องกันอันตรายจากการทำงานในสถานที่อับอากาศ

              สถานที่อับอากาศ (confined spaces) หมายความว่า สถานที่ทำงานที่มีทางเข้าออกจำกัด มีการระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติไม่เพียงพอที่จะทำให้อากาศภายในอยู่ในสภาพถูกสุขลักษณะ และปลอดภัย ซึ่งอาจเป็นที่สะสมของสารเคมีเป็นพิษ สารไวไฟ รวมทั้งออกซิเจนไม่เพียงพอ เช่น อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ หลุม ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก ถัง ไซโล ท่อ เตา ภาชนะหรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน และเป็นสถานที่ที่ไม่ได้ออกแบบให้เข้ามาทำงานอย่างต่อเนื่อง

              บรรยากาศอันตรายหมายความว่า สภาพอากาศที่อาจทำให้คนงานได้รับอันตรายจากสภาวะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

  • มีออกซิเจนต่ำกว่าร้อยละ ๑๙.๕ หรือมากกว่าร้อยละ ๒๓.๕ โดยปริมาตร
  • มีก๊าซ ไอ ละอองที่ติดไฟหรือระเบิดได้ เกินร้อยละ ๑๐ ของค่าความเข้มข้นขั้นต่ำของสารเคมีแต่ละชนิดในอากาศที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้ (lower flammable limit หรือ lower explosive limit)
  • มีค่าความเข้มข้นของสารเคมีแต่ละชนิดเกินมาตรฐานที่กำหนดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย
  • สภาวะอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

การพิจารณาว่าพื้นที่ใดจัดเป็นพื้นที่อับอากาศ มีปัจจัยในการพิจารณาดังนี้

  • พื้นที่ซึ่งปริมาตรมีขนาดเล็ก ก๊าซหรือไอที่เกิดขึ้นในบริเวณนั้นไม่สามารถระบายออกไปได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ที่อยู่ในบริเวณนั้น
  • ผู้ปฏิบัติงานคนอื่นๆที่อยู่นอกพื้นที่นั้นจะเข้าไปสังเกตการณ์ หรือช่วยเหลือผู้ที่กำลังปฏิบัติงานได้ยาก
  • ช่องเปิด ทางเข้า – ออก อยู่ไกลจากจุดปฏิบัติงาน มีขนาดเล็ก ทางเข้าออกไม่สะดวก           

 

อันตรายจากการปฏิบัติงานในสถานที่อับอากาศ  

อาจมีอันตรายต่อสุขภาพพนักงานและความเสียหายอย่างอื่น เช่น ทรัพย์สิน หรืออาจถึงชีวิต ซึ่งสรุปได้โดยสังเขปดังนี้ 

  • อันตรายที่เกิดจากการขาดอากาศหายใจ(Oxygen Deficient Atmosphere)
    บริเวณสถานที่ทำงานที่เป็นที่อับอากาศจะมีสภาพการณ์ที่มีบรรยากาศที่ไม่ปลอดภัยเนื่องจากสภาพพื้นที่ที่มีบริเวณจำกัด การระบายอากาศไม่เพียงพอ หรือมีการทำงานที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีหรือทางชีวภาพขึ้นในที่อับอากาศ ซึ่งส่งผลให้มีการใช้ออกซิเจนโดยตรงหรือเกิดก๊าซบางชนิดขึ้นมาแทนที่ออกซิเจนในบรรยากาศ โดยอาจเกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของวัสดุหรือสารเคมีไวไฟที่ใช้ในงานเชื่อม  หรือใช้เครื่องเชื่อมก๊าซตัดชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่อยู่ในที่อับอากาศ
  • อันตรายที่เกิดจากภาวะบรรยากาศมีพิษ (Toxic Atmosphere)
    คือลักษณะอันตรายที่เกิดจากกระบวนการต่างๆที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี หรือการปฏิบัติงานในที่อับอากาศที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมี ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ผลผลิต หรือของเสียที่จะต้องกำจัด โดยของเสียดังกล่าวจะอยู่ในรูปของก๊าซ ไอ ฝุ่น ฟูม ควัน ละออง หรืออยู่ในรูปของเหลว เช่นสารเคมีตัวทำละลาย (Solvent)ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งผู้ปฏิบัติงานจะได้รับอันตรายหากได้รับหรือสัมผัสกับอันตรายดังกล่าว
         การทำปฏิกิริยาทางเคมีจะก่อให้เกิดการสะสมรวมตัวของสารเคมีอย่างต่อเนื่อง และนำมาซึ่งภาวะบรรยากาศเป็นพิษ เช่น งานเชื่อมก่อให้เกิดอันตรายจากฟูมโลหะและก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซค์ งานทาสีก่อให้เกิดอันตรายจากไอระเหยของสารตัวทำละลาย เป็นต้น นอกจากนี้ภาวะบรรยากาศที่เป็นพิษอาจเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาทางเคมีและทางชีวภาพ เช่นบ่อบำบัดน้ำเสีย มักเกี่ยวข้องกับการเกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่มีความเป็นพิษสูงมาก อันตรายจะเกิด เมื่อผู้ปฏิบัติงานได้รับ หรือสัมผัสโดยการสูดหายใจเข้าไปจะทำให้หมดสติ ระบบการหายใจล้มเหลว และอาจเสียชีวิตได้
  • อันตรายที่เกิดจากภาวะบรรยากาศที่ไวไฟ (Flammable Atmosphere)
            ลักษณะอันตรายที่เกิดจากสภาวะบรรยากาศที่ไวไฟที่เกิดในที่อับอากาศส่วนใหญ่มักเกิดจากสภาพการณ์ที่มีระดับไอระเหยของสารเคมีไวไฟที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีทำให้เกิดการสะสม หรือตกค้างอยู่ในที่อับอากาศถึงระดับที่สามารถลุกติดไฟ หรือเกิดการระเบิดขึ้นได้ หรือเกิดจากในที่อับอากาศมีปริมาณออกซิเจนที่มีระดับสูงกว่าปกติ(มากกว่า ๒๓.๕%) หากเกิดการลุกติดไฟหรือระเบิดก็จะทำให้ระดับความรุนแรงกว่ามีมากขึ้น หรืออาจเกิดจากสภาวะที่มีปริมาณการสะสมของฝุ่นที่ติดไฟได้ ภายใต้สภาวะที่มีส่วนผสมในอากาศในระดับที่มีความเหมาะสม หากก่อให้เกิดประกายไฟหรือความร้อนจนถึงระดับที่มีการลุกติดไฟ หรือการระเบิดขึ้นได้ ทั้งนี้จะมีองค์ประกอบ ๓ อย่างคือ ปริมาณออกซิเจน เชื้อเพลิง และแหล่งความร้อนหรือประกายไฟ   
  • อันตรายที่เกิดจากสภาพแวดล้อมทางเออร์กอนอมิคส์(Ergonomics) เช่น

- เกิดจากสภาพพื้นที่ทำงานไม่เหมาะสม  เช่นสถานที่ทำงานคับแคบหรือจำกัด อยู่ในสภาพชื้นแฉะ มีสิ่งของกีดขวางหรือรกรุงรัง 

- เกิดจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาสังคม  เช่นงานที่ต้องทำแข่งกับเวลา หรือมีระยะเวลาจำกัด การปฏิบัติที่ซ้ำซากจำเจที่ต้องเข้าไปในที่อับอากาศ
- เกิดจากลักษณะท่าทางและอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เช่น ยืนหรือนั่งทำงานที่ระดับสูงต่ไม่เท่ากัน ปวดหลังจากการยกของผิดท่าทาง

  • อันตรายจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น

- เสียงดังที่เกิดจากการใช้เครื่องมือกลที่ใช้ในการทำงานในที่อับอากาศ เช่นเครื่องเจียร์ เครื่องตัด เครื่องเจาะกระแทก เป็นต้น
- การสั่นสะเทือน เสียงและความสั่นสะเทือนมักจะมีต้นกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน จึงมีความเกี่ยวข้องกันอยู่เสมอการสั่นสะเทือนเกิดจากตัวผู้ปฏิบัติงานใช้เครื่องมือกลในการถอดหรือประกอบอุปกรณ์ที่เป็นตัวยึด เช่นฝาแมนโฮลด์ ซึ่งผลกระทบจากการสั่นสะเทือนจะทำอันตรายที่บริเวณอวัยวะที่สัมผัสกับการสั่นสะเทือน อาจเป็นสาเหตุให้หลอดเลือดตีบ อาจส่งผลให้ปลายประสาทอักเสบและเสื่อมสภาพ หรือเกิดความผิดปกติกับกระดูกข้อมือและกล้ามเนื้อหดลีบ

  • อุณหภูมิที่ผิดปกติ
    การในทำงานในที่อับอากาศ ส่วนหนึ่งจะมีอันตรายที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิที่ผิดปกติพิจารณาได้จากสภาพการทำงาน ประเภทการทำงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่นเข้าไปทำงานในเตาเผาที่มีความร้อนสูง หรือเข้าไปในเตาหรือหม้อต้มไอน้ำ หรือลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งลักษณะการทำงานแบบนี้ อาจมีผลกระทบกับอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งเป็นอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน โดยส่งผลกระทบกับร่างกายหรือเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย หรือระบบการทำงานของร่างกายเกิดการแปรปรวน หากต้องทำงานกับสภาพการณ์ที่มีความร้อนเป็นระยะเวลานานๆร่างกายอาจตอบสนองหรือโต้ตอบด้วยการเกิดความเครียด หรือความกดดันของหัวใจ หรืออ่อนเพลีย อาจหมดสติและเสียชีวิตได้
  • อันตรายที่เกิดจากการสัมผัสกระแสไฟฟ้า
    ผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศที่มีการใช้เครื่องมือกล เช่นสว่านเจาะ หินเจียร์ ไฟส่องสว่าง เป็นต้น มีสภาพชำรุด และในพื้นที่ทำงานมีสภาพชื้นแฉะ ก็อาจทำให้กระแสไฟฟ้าเกิดลัดวงจรทำอันตรายผู้ปฏิบัติงานเสียชีวิตได้
  • อันตรายจากสภาพแวดล้อมทางชีวภาพในที่อับอากาศเช่น

- การติดเชื้อโรคต่างๆ เนื่องจากในที่อับอากาศที่มีการจัดเก็บวัสดุทางการเกษตร ที่มีเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ชนิดต่างๆอยู่ด้วย เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา 
- การถูกสัตว์มีพิษกัดในขณะทำงานในที่อับอากาศ ซึ่งสัตว์มีพิษอาจจะเข้าไปหลบอาศัยอยู่ เมื่อมีผู้ที่เข้าไปทำงานในที่อับอากาศ อาจถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น

  • อันตรายจากการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุอื่นๆ ได้แก่อันตรายที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีสภาพพื้นที่ที่มีระดับความสูงต่ำไม่เท่ากัน หรือมีสภาพที่ลื่น หรือเกิดจากการจัดระเบียบพื้นที่ทำงานไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการสะดุดหกล้ม ได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดการพังทลายของวัสดุที่กองเก็บ หรือพังทลายจากดินโคลนที่ถูกน้ำพัดหรือเกิดน้ำท่วมแบบเฉียบพลัน หรือเกิดจากการตกจากที่สูงขณะทำงานอยู่บนนั่งร้านที่ติดตั้งอยู่ในที่อับอากาศ หรือ เกิดจากการที่วัสดุสิ่งของตกลงมากระแทกหรือกระทบกับร่างกายได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น

สถานการณ์การเสียชีวิตและมาตรการป้องกันอันตรายจากการทำงานในสถานที่อับอากาศ

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๖ จนถึง พ.ศ. ๒๕๖๐ พบว่า มีการเกิดเหตุการณ์บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการ ดังนี้

ลำดับ

วันที่เกิดเหตุ

สาเหตุ/ลักษณะการเกิดเหตุ

จำนวน

เจ็บป่วย

เสียชีวิต

๑๓ ก.พ. ๒๕๔๖
รง.ผลิตเม็ดพลาสติก
จ.ระยอง

คนงานเข้าไปตรวจสอบความผิดปกติถังผสมสารเคมีความลึก ๓ ม. สูดดมสารเคมีและขาดอากาศหายใจ

๑๒ มี.ค. ๒๕๔๗
รง.ฟอกหนัง
จ.สมุทรปราการ

คนงานลงไปทำความสะอาดบ่อน้ำเสีย มีน้ำเสียตกค้าง ประมาณ ๓๐ ซม./สูดดมก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์

๑๒ เม.ย. ๒๕๔๗
รง.ผลิตเส้นใย จ.อ่างทอง

คนงานลงไปล้างถังตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย และสูดดมสารพิษ

๒๖ ต.ค. ๒๕๔๗
โรงสีข้าว จ.ขอนแก่น

คนงานลงไปทำความสะอาดในหลุมกระพ้อข้าวเปลือก ปากหลุมกว้าง ๐.๕ม.x ๑ม. ลึก ๓.๕ ม.และไม่มีการระบายอากาศที่ดีพอ ทำให้คนงานขาดอากาศหายใจ

๙ เม.ย. ๒๕๔๘
รง.ผลิตคาร์บอนแบลค
จ.อ่างทอง

คนงานลงไปซ่อมหม้อน้ำ ตรวจพบออกซิเจนปริมาณน้อยทำให้คนงานขาดอากาศหายใจ

-

๑๖ มิ.ย. ๒๕๔๙
บ่อน้ำ บริเวณทุ่งนา
จ.กำแพงเพชร

เกษตรกรลงไปตรวจซ่อมปั๊มสูบน้ำในก้นบ่อที่มีความลึก ๑๐ ม. แล้วเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ตรวจพบออกซิเจนก้นบ่อ ๕.๙%

-

๒๙ ก.ค. ๒๕๔๙
รง.อาหารสัตว์(ไซโลข้าวโพด) จ.นครราชสีมา

คนงานลงไปซ่อมท่อสะพานและอัดจารบี ในหลุมลึกของไซโลที่มีความลึกประมาณ ๓ ม. และขาดอากาศหายใจ

-

๒๒ ก.ค. ๒๕๔๙โรงผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ของฟาร์มสุกร จ.ราชบุรี

คนงานลงไปติดตั้งท่อ PVC ในบ่อกว้าง ๓ม. ลึก๔ ม.เพื่อสูบน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียเข้าสู่บ่อหมักก๊าซชีวภาพและสูดดมไฮโดรเจนซัลไฟด์

-

๙ มี.ค. ๒๕๕๕
รง.ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพของโรงงาน      น้ำมันปาล์ม จ.กระบี่

คนงานลงไปล้างบ่อพัก(sump)ของระบบฟอกก๊าซชีวภาพ(biological scrubber) ปากบ่อกว้าง ๓ม.x ๖ม. ลึก ๒.๙ ม.และมีตะกอนก้นบ่อ ๒๐-๓๐ ซม. และสูดดมไฮโดรเจนซัลไฟด์

๑๐

๒๗ พ.ค. ๒๕๕๕
โรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ   ของฟาร์มสุกร จ.ราชบุรี

คนงานลงไปต่อท่อก๊าซชีวภาพที่ฝังในดิน โดยขุดบ่อ กว้าง๓ม. x ๔ ม.ลึก ๓ ม. แล้วถอดหน้าแปลนทำให้ก๊าซชีวภาพรั่ว คนงานสูดดม

-

๑๑

๑๐ มิ.ย.๒๕๕๖    โรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวมวล จ.ตรัง

หัวหน้าวิศวกรชาวนิวซีแลนด์และลูกน้องคนไทยขึ้นไปช่วยชีวิตลูกน้องที่หมดสติ บนปล่องระบายอากาศ สูงประมาณ ๘ ม. เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ ม. ขาดอากาศหายใจ

 

 

 

๑๒

๒๖ มี.ค. ๒๕๕๗บ่อน้ำเสียเทศบาลนครภูเก็ต

คนงานบริษัทรับเหมาดูแลระบบบำบัดน้ำเสียลงไปล้างบ่อพักน้ำเสีย ขนาดกว้าง ๘๐ ซม. x ๑ ม. ลึก ๓ ม. สูดดมก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์

-

 

๑๓

๑๔ มิ.ย. ๒๕๕๗                  บ้านพัก  จ.นนทบุรี

คนงานขุดบ่อน้ำบาดาล เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ ม. ลึก ๔ ม. ขาดอากาศหายใจ

-

๑๔

๗ เม.ย. ๒๕๕๗                 บ้านพักให้เช่า จ.ระยอง

คนงานลงไปล้างบ่อเก็บน้ำอุปโภค บริโภค  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๕ ม. ลึก ๖ ม. โดยเปิดฝาท่อไว้ คนงานขาดอากาศหายใจ

-

๑๕

๒๓ มิ.ย.๒๕๖๐ กม.๒๐เขตบางนา   กทม.

นักศึกษาสัตวแพทย์ตกบ่อบำบัดน้ำเสีย (Daft) ขนาดบ่อกว้าง ๓.๐ ม. ยาว ๔.๐ม. ลึก ๒.๕ ม.ในโรงงานชำแหละสัตว์ปีก   สูดดมก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์           

 

๑๖

๑๔ กค. ๒๕๖๐    โรงงานผลิตอาหารสัตว์ อ.บางเลน  จ.นครปฐม

เกิดเหตุบริเวณไซโลเก็บอาหารสัตว์ ของโรงงานผลิตอาหารสัตว์โดยคนงานลงไปซ่อมถังบรรจุไซโลผสมข้าวโพดที่ชำรุดรั่ว เข้าไปทาง แมนโฮลเป็นช่องสี่เหลี่ยมขนาดพอคนลอดได้ ไซโลมีขนาดความกว้าง๑ ม. สูงประมาณ ๑๕ ม.   คนงาน๒คนได้นำเครื่องเชื่อมไฟฟ้าโดยใช้สายสลิงโรยตัวเข้าไปข้างในเพื่อเชื่อมอุดรอยรั่ว ส่วนอีกคนอยู่ที่ปากแมนโฮลเพื่อคอยดูดควัน เวลาผ่านไป ๕ นาที เกิดเสียงระเบิดและไฟพุ่งออกที่ช่องแมนโฮล คนงานตกลงไปด้านล่าง เสียชีวิต

๑๗

๒ ๐ กย.๒๕๖๐โรงงานไซโลข้าวโพด อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

เกิดเหตบริเวณบ่อดักน้ำฝนมีฝาเหล็กปิดกว้าง ๓ ม. ยาว ๔ ม. ลึก ๓ ม. ทั้ง๓คนลงไปเช็คท่อน้ำในเตาเผาซึ่งอยู่ใกล้เตาเผาคาดสูดดมก๊าซพิษ

-

มาตรการป้องกันความปลอดภัยการทำงานในที่อับอากาศ

  • ควรมีการสำรวจสถานที่ทำงานว่าสถานใดบ้างเป็นสถานที่อับอากาศและติดป้ายเตือนอันตรายสถานที่อับอากาศ

  • ต้องมีขั้นตอนการขออนุญาตเข้าไปทำงานในที่อับอากาศที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยขั้นตอนที่กำหนดขึ้นนี้ สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

  • ต้องจัดให้มีผู้ควบคุมงานที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เช่น วางแผนปฏิบัติงาน และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และอบรมสอนงาน ควบคุมดูแลให้ ลูกจ้างใช้ตรวจตรา เครื่องป้องกันและอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย ที่ให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะทำงาน

  • จัดให้มีผู้ช่วยเหลือซึ่งผ่านการอบรมช่วยเหลือผู้ประสบภัย และอุปกรณ์การช่วยเหลือเฝ้าอยู่ปากทางเข้าสถานที่ทำงานอับอากาศตลอดเวลาทำงาน เช่น รอก เชือก เข็มขัด อุปกรณ์ปฐมพยาบาล อุปกรณ์ดับเพลิง

  • ไม่อนุญาตให้คนงานเข้าไปทำงานในสถานที่อับอากาศก่อนที่จะมีการตรวจวัดปริมาณออกซิเจน,ก๊าซพิษและการระบายอากาศ และต้องตัดการทำงานของเครื่องจักรระบบไฟฟ้า การป้อนวัสดุ

  • ต้องมีเครื่องตรวจวัดอากาศ,ก๊าซพิษที่สถานที่ปฏิบัติตลอดเวลาที่ทำงานอยู่และผู้ทำหน้าที่อนุญาตควรทำการตรวจวัดปริมาณระดับออกซิเจนในสถานที่ทำงานที่เป็นที่อับอากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย (ปริมาณออกซิเจน ๑๙.๕ – ๒๓.๕%หรือสารเคมีที่ติดไฟได้ในปริมาณเข้มข้นกว่าร้อยละ 20 ของความเข้มข้นต่ำสุด ที่จะติดไฟหรือระเบิดได้) ตามที่กฎหมายกำหนดก่อนเริ่มงาน และต้องมีพัดลมระบายอากาศแบบไม่ก่อให้เกิดประกายไฟเตรียมพร้อมตลอดระยะเวลาทำงาน

  • ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่นหากสถานที่ทำงานมีระดับออกซิเจนต่ำกว่าค่าที่กฎหมายกำหนดต้องใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ(SCBA หรือ Air Line)และหากต้องสัมผัสเสียงดัง ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลชนิดลดเสียงขณะปฏิบัติงานและหากต้องทำงานในที่อับอากาศที่ต่างระดับต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันการตก เช่นสายรัดลำตัว ต่อกับเชือกช่วยชีวิต

  • อุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ประกอบที่ใช้ในสถานที่อับอากาศ ต้องเป็นชนิดที่สามารถป้องกัน ความร้อน ฝุ่น การระเบิด การลุกไหม้ และไฟฟ้าลัดวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องจัดให้มีการเดินสายไฟฟ้าในสถานที่อับอากาศด้วยวิธีที่ปลอดภัยต้องมีแผนการตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น สายไฟฟ้า สายดิน  และการติดป้ายแสดงหลังจากผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่นำไปใช้งานในสถานที่อับอากาศ แผงควบคุมวงจรหลักหรือวงจรย่อย ผู้ปฏิบัติงานต้องสามารถเข้าไปตัดวงจรได้ทันทีกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

  • ควรจัดให้มีอุปกรณ์สื่อสารที่จำเป็นเพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ระหว่างปฏิบัติงานในที่อับอากาศ

  • อุปกรณ์ประเภทบันได ต้องมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการเข้าและออกของผู้ที่เข้าไปปฏิบัติงานและต้องเป็นชนิดที่ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า

  • กำหนดข้อห้าม และควบคุมต่างๆ เช่น ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามก่อไฟ ห้ามคนไม่เกี่ยวข้องเข้าไป ถ้าเป็นช่องโพรง ต้องปิดกั้นไม่ให้คนตกลงไป และจัดให้มีป้ายแจ้งข้อความ "บริเวณอันตรายห้ามเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต" ปิดประกาศไว้ในบริเวณสถานที่อับอากาศซึ่งมองเห็นชัดอยู่ตลอดเวลา

  • ควรมีขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Work instruction) ที่ปลอดภัย และต้องมีการอบรมคนงานและให้ปฏิบัติตามขั้นตอนการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดก่อนเข้าทำงานในพื้นที่อับอากาศ

เอกสารอ้างอิง

  • ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ (ฉบับที่ ๒)  พ.ศ. ๒๕๕๑
  • คู่มือการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการออกแบบ การผลิต การควบคุมคุณภาพ และการใช้ก๊าซชีวภาพ (Biogas) สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม  สำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม พฤศจิกายน ๒๕๕๓
  • เอกสารประกอบการฝึกอบรม หลักสูตร ความปลอดภัยในการทำงานที่อับอากาศ บริษัท เอ็นพีซี แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด
Read 27599 times Last modified on วันพุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2562 14:47

บทความที่ได้รับความนิยม