This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพฤหัสบดี, 07 กุมภาพันธ์ 2562 11:16

ภัยร้ายจากการทำงานกับของเหลวไวไฟ

ของเหลวไวไฟ (flammable liquid) เป็นสารเคมีอันตรายกลุ่มหนึ่งที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา การดำเนินกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับของเหลวไวไฟ เช่น การใช้งาน การจัดเก็บ การกำจัดอย่างไม่ปลอดภัย อาจก่อให้เกิดอันตรายและส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ไฟไหม้ สารเคมีหกรั่วไหล ซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวผู้ปฎิบัติงาน เพื่อนร่วมงาน ทรัพย์สินขององค์กร ชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้

ดังตัวอย่างอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากการระเบิดของๆ เหลวไวไฟ ที่เมือง Mexico city ประเทศ Mexico ในปี ค.ศ.1984 เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 7,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจำนวนทั้งสิ้น 550 คน1) ดังนั้น เพื่อขจัดและลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานกับของเหลวไวไฟ ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องเข้าใจทฤษฎีและหลักการที่สำคัญของสารในกลุ่มนี้ เพื่อตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายและสามารถปฏิบัติงานกับสารดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

 

ภาพสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (pictogram) ของๆ เหลวไวไฟตามระบบ GHS


       ของเหลวไวไฟส่วนใหญ่ เป็นสารอินทรีย์ที่มีจุดเดือดต่ำและมีความดันไอสูง ตัวอย่างของๆ เหลวไวไฟ เช่น เอทานอล อะซีโตน อีเทอร์ เป็นต้น (สารอินทรีย์บางชนิด ที่มีจุดเดือดต่ำและมีความดันไอสูง อาจไม่เป็นของเหลวไวไฟ เช่น ไดคลอโรมีเทน เป็นต้น) ของเหลวไวไฟ มักถูกใช้ในกระบวนการผลิตและการวิจัยเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ เช่น ใช้เพื่อการละลายสาร ใช้ในการสกัดเพื่อเพิ่มความบริสุทธ์ของสาร ของเหลวไวไฟมักมีความไวไฟสูง เกิดการลุกไหม้ได้ง่าย ทั้งนี้ การลุกไหม้ จัดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ชนิดหนึ่งซึ่งมีการคายความร้อนควบคู่ ความร้อนที่เกิดขึ้นจะขับเคลื่อนให้ปฏิกิริยาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลุกไหม้จะอาศัยองค์ประกอบหลัก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ เชื้อเพลิง ออกซิไดเซอร์ (เช่น ออกซิเจนในอากาศ) และความร้อน ซึ่งรวมเรียกว่า “หลักสามเหลี่ยมไฟ” โดยของเหลวไวไฟจัดเป็นเชื้อเพลิงตามหลักการดังกล่าว ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการลุกไหม้ตามหลักสามเหลี่ยมไฟ ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องจัดวางหรือใช้งานของเหลวไวไฟ ให้ห่างจากความร้อนต่างๆ เช่น ประกายไฟ เปลวไฟ ความร้อน เป็นต้น เมื่อมีการถ่ายเทของเหลวไวไฟในปริมาณมากต้องมีการต่อสายดินเพื่อลดการเกิดไฟฟ้าสถิตย์ ไม่จัดเก็บสารไวไฟในปริมาณมากเพื่อลดระดับความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ในการทำงานในห้องปฏิบัติการ ไม่ใช้เปลวไฟหรือเตาไฟในการให้ความร้อนแก่สารโดยตรง แต่ให้ความร้อนโดยผ่านอ่างน้ำร้อน อ่างน้ำมันร้อน อ่างทรายร้อนแทน จัดเก็บสารไวไฟในตู้เก็บสารไวไฟที่ทนไฟได้ เป็นต้น

       การลุกไหม้นอกจากจะเกิดขึ้นตามหลักสามเหลี่ยมไฟแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงปริมาณของไอความเข้มข้นของสารในอากาศว่ามีสัดส่วนที่เหมาะสมหรือไม่ จากแผนภาพแสดงช่วงการติดไฟของไอสารเคมีในอากาศ พบว่าถ้ามีปริมาณไอสารเคมีในอากาศต่ำกว่าเส้น LFL (Lower Flammability Limits) สารจะไม่เกิดการลุกติดไฟ เนื่องจากมีปริมาณไอของสารที่เป็นเชื้อเพลิงในอากาศน้อยเกินไป (too lean to burn) แต่ถ้ามีปริมาณไอสารในอากาศสูงเกินกว่าเส้น UFL (Upper Flammability Limits) สารก็จะไม่ลุกติดไฟด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีปริมาณไอของสารในอากาศมากเกินไป (too rich to burn) การที่สารเคมีลุกติดไฟได้ ปริมาณไอของสารในอากาศต้องมีความเข้มข้นในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งต้องมีค่าอยู่ระหว่างเส้น LFL และ UFL โดยทั่วไป LFL และ UFL ของสารเคมีจะมีค่าอยู่ในช่วง 1-4% และ 6-20% ตามลำดับ สารเคมีที่มีช่วงระหว่าง LFL และ UFL ที่กว้างมีโอกาสในการลุกติดไฟได้ง่าย เช่น อะเซทิลีน มีช่วงระหว่าง LFL และ UFL คือ 77.5% (อะเซทิลีนมีค่า LFL และ UFL คือ 2.5% และ 80% ตามลำดับ) เป็นสารที่มีความไวไฟสูง ดังนั้นเพื่อป้องกันการลุกติดไฟของๆ เหลวไวไฟ ผู้ปฏิบัติงานต้องควบคุมให้มีปริมาณไอของสารในระดับที่ต่ำกว่า LFL ซึ่งสามารถทำได้โดยการลดปริมาณไอระเหยของสารที่แพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม (อากาศ) ในกรณีที่ทำงานวิจัยในห้องปฏิบัติการ ควรใช้ภาชนะปลายปากแคบในการบรรจุของเหลวไวไฟ และปิดปากภาชนะที่บรรจุของเหลวไวไฟทุกครั้งด้วยฝาหรือ กระจกนาฬิกา เป็นต้น 


       ค่าทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับสมบัติความไวไฟของๆ เหลวไวไฟ ได้แก่ จุดวาบไฟ (Flash point) และ อุณหภูมิที่ลุกติดไฟได้เอง (Auto-ignition temperature) ซึ่งค่าทั้งสองสามารถถูกนำมาใช้เพื่อพิจารณาความเป็นอันตรายของๆ เหลวไวไฟได้ จุดวาบไฟเป็นค่าตัวเลขที่ใช้บอกอุณหภูมิที่ต่ำสุดที่ไอของสารสามารถจุดติดไฟได้ เมื่อนำไปวางไว้ใกล้แหล่งจุดติดไฟ อย่างไรก็ตาม ไฟที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถลุกติดไฟได้อย่างต่อเนื่อง สารเคมีที่มีค่าจุดวาบไฟที่มีค่ายิ่งต่ำจะมีความเป็นอันตรายด้านความไวไฟที่สูง ค่าตัวเลขทางวิทยาศาสตร์อีกค่าที่สามารถใช้พิจารณาสมบัติความไวไฟของสาร คือ อุณหภูมิที่ลุกติดไฟได้เอง (Auto-ignition temperature) ซึ่งเป็นค่าตัวเลขที่ใช้บอกอุณหภูมิที่ต่ำสุดที่ทำให้สารสามารถลุกติดไฟได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องถูกนำไปวางไว้ใกล้กับแหล่งจุดติดไฟแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น คาร์บอนไดซัลไฟด์มีอุณหภูมิที่ลุกติดไฟได้เอง 90 oC การนำคาร์บอนไดซัลไฟด์ไปวางไว้ในที่ๆ มีอุณหภูมิ 90 oC หรือสูงกว่า สามารถเหนี่ยวนำให้คาร์บอนไดซัลไฟด์ลุกติดไฟขึ้นได้เอง ทั้งนี้ จุดวาบไฟ และอุณหภูมิที่ลุกติดไฟได้เอง จะมีแสดงในส่วนที่ 9 สมบัติทางกายภาพและเคมี ในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสาร นอกจากค่าวิทยาศาสตร์ที่กล่าวข้างต้น ความเป็นอันตรายตามกลุ่มย่อยของๆ เหลวไวไฟตามระบบสากล GHS (Globally Harmonized System of Classification and Labelling) ยังสามารถใช้บ่งชี้ระดับความเป็นอันตรายของๆ เหลวไวไฟได้ โดยของเหลวไวไฟในกลุ่มย่อยที่มีค่าตัวเลขยิ่งน้อยจะมีความเป็นอันตรายด้านความไวไฟสูงกว่าของเหลวไวไฟในกลุ่มย่อยที่มีค่าตัวเลขที่มากกว่า ดังรายละเอียด

  • ของเหลวไวไฟ กลุ่มย่อยที่ 1 จะมีจุดวาบไฟ < 23 oC และ จุดเดือด 35 oC

  • ของเหลวไวไฟ กลุ่มย่อยที่ 2 มีจุดวาบไฟ < 23 oC และ จุดเดือด > 35 oC

  • ของเหลวไวไฟ กลุ่มย่อยที่ 3 จะมีจุดวาบไฟ 23 oC และ 60 oC

  • ของเหลวไวไฟ กลุ่มย่อยที่ 4 จะมีจุดวาบไฟ 60 oC และ 93 oC


ทั้งนี้ ข้อมูลแสดงกลุ่มย่อยของๆ เหลวไวไฟ จะมีแสดงในส่วนที่ 2 การบ่งชี้ความเป็นอันตรายในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสาร


      ในกรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากการลุกไหม้ ของๆ เหลวไวไฟ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือผู้ประสบเหตุ ต้องมีสติและสามารถประเมินระดับของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ ในกรณีที่เป็นการลุกไหม้ในระดับเล็ก เช่น การติดไฟของๆ เหลวไวไฟในภาชนะขนาดเล็กเช่น บีกเกอร์ สามารถใช้วัสดุที่เหมาะสม เช่น กระจกนาฬิกา หรือผ้าชุบน้ำ หรือผ้าคลุมไฟ เพื่อใช้ครอบหรือคลุมภาชนะในการดับไฟ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องดับเพลิงในการดับไฟที่เกิดจากของเหลวไวไฟ ประเภทของเครื่องดับเพลิงที่มีความเหมาะสม ได้แก่ เครื่องดับเพลิงประเภทคาร์บอนไดออกไซด์เหลว เครื่องดับเพลิงประเภท AFFF (Aqueous Film-Forming Foam Concentrates) เครื่องดับเพลิงประเภทผงเคมีแห้งแบบ ABC หรือ BC (ในกรณีทีใช้เครื่องดับเพลิงประเภทผงเคมีแห้งแบบ ABC หรือ BC จะเกิดผงเคมีปกคลุมบริเวณที่ฉีด ซึ่งส่งผลให้เครื่องมือที่มีชิ้นส่วนของอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคเป็นส่วนประกอบเกิดความเสียหายได้) เป็นต้น ห้ามใช้น้ำในการดับไฟที่เกิดจากของเหลวไวไฟ เนื่องจากน้ำจะไม่เข้ากับของเหลวไวไฟ และน้ำมีค่าความหนาแน่นที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับของเหลวไวไฟ ซึ่งจะทำให้ของเหลวไวไฟลอยและแพร่กระจายเหนือผิวน้ำได้โดยง่าย เป็นเหตุให้ไฟที่เกิดขึ้นจะลุกลามและขยายในวงกว้างมากขึ้น ในกรณีที่ไฟลุกติดเสื้อผ้าของผู้ประสบเหตุ ให้ตั้งสติ จากนั้นใช้เทคนิค Stop Drop Roll คือ หยุดอยู่กับที่ จากนั้นล้มตัว และทำการกลิ้งซ้าย ขวา เพื่อดับไฟในเบื้องต้นโดยทันที ในกรณีที่เป็นการลุกไหม้ขนาดใหญ่ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือผู้ประสบเหตุไม่สามารถจัดการได้เอง ต้องรีบดำเนินการตามแผนการตอบโต้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินโดยเร่งด่วน เพื่อควบคุมอุบัติเหตุและลดระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น

       ผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับของเหลวไวไฟ สามารถลดความเสี่ยงเนื่องจากการทำงานได้โดย ลดปริมาณการครอบครองของๆ เหลวไวไฟให้มีน้อยที่สุดทั้งชนิดและปริมาณซึ่งจะช่วยลดภาระในส่วนของพื้นที่ในการจัดเก็บและระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุ3) หลีกเลี่ยงการสะสมของปริมาณไอของๆ เหลวไวไฟในอากาศโดยปฏิบัติงานในพื้นที่ๆ มีอากาศถ่ายเทที่ดี การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารไวไฟต้องดำเนินการให้ห่างจากความร้อน ในกรณีที่มีอุบัติเกิดขึ้น ต้องมีแผนและมีความพร้อมในการตอบโต้เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น การปฏิบัติงานภายใต้พื้นฐานดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งเสริมสร้างทักษะด้านความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยแก่องค์กรต่อไป

บทความโดย
ดร.องอาจ ธเนศนิตย์
ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกสารอ้างอิง
Arturson, G. (1987). The tragedy of San Juanico-the most severe LPG disaster in history. Burns, 13(2), pp. 87-102.
Gustavb, (2018), The Fire triangle. [ONLINE]. Available at: https://en.wikipedia.org /wiki/Fire_triangle#/media/File:Fire_triangle.svg [Accessed 26 November 2018]
ACS. (2002). Less is better. [ONLINE] Available at: https://www.acs.org/content /dam/acsorg/about/governance/committees/chemicalsafety/publications/less-is-better.pdf. [Accessed 26 November 2018].

Read 19590 times

บทความที่ได้รับความนิยม