This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพุธ, 02 ตุลาคม 2562 09:20

สุขภาพดี มีแฮง แรงงาน วัยเก๋า

     จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 พบว่าประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มีจำนวน 11.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มประชากรสูงอายุจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลง ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคที่เรียกว่า “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) ภายในปี 2564 การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของประชากรดังกล่าวส่งผลให้อายุเฉลี่ยของแรงงานไทยจะสูงขึ้น แรงงานที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป

จะมีจำนวนมากขึ้นและมีบทบาทสำคัญในการสร้างผลิตภาพแรงงาน ขณะเดียวกันแรงงานเหล่านี้จะก้าวเข้าสู่การเกษียณในอีก 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานกลุ่มนี้ก้าวเข้าสู่การเป็นประชากรสูงวัยที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านของคุณภาพชีวิตและคุณภาพสังคม

     สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยพบว่าโครงสร้างประชากรของประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลิตภาพการผลิตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีเวลาน้อยในการปรับตัวกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งอายุที่เพิ่มขึ้นของผู้ปฏิบัติงานนั้นมีผลต่อความสามารถในการทำงาน (Work Ability) ซึ่งแบ่งออกเป็นสองส่วนได้แก่

  1. ต้นทุนมนุษย์ ประกอบด้วยสุขภาพและกำลังความสามารถทั้งทางด้านกาย ใจ และสังคม การเรียนรู้และสมรรถนะ คุณค่าและทัศนคติ และแรงจูงใจ
  2. บริบทของงาน ประกอบด้วย อุปสงค์ของงาน (Work demand) หรือความต้องการจ้างงานตามลักษณะของเนื้องาน สภาพองค์กรและการบริหารจัดการ รวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วย

ซึ่งการจะส่งเสริมความสามารถในการทำงานนั้นต้องดำเนินการทั้งในส่วนของบริบทของงานและผู้ปฏิบัติงาน โดยจัดกิจกรรมหรือมาตรการ เช่น การฝึกอบรมในประเด็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลและการบริหารจัดการแรงงานผู้สูงอายุ หรือกิจกรรมการส่งเสริมการออกกำลังกาย เป็นต้น

ปัจจุบันมีการเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุโดยมีการจัดบริการด้านอาชีวอนามัย ได้แก่

  1. การป้องกันโรคหรือการบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงานหรือเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน โดยเฉพาะสิ่งคุกคามที่มีความเสี่ยงสูงต่อผู้สูงอายุ

  2. การบริหารจัดการให้ผู้ที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากการทำงาน หรือเจ็บป่วยด้วยโรคภายนอกงานสามารถกลับมาทำงานได้อย่างเหมาะสม (Return to work management)

  3. การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามวัยหรือจากวิถีชีวิต เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

  4. การส่งเสริมสุขภาพและการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงาน (Promotion of health and workability)

 

       การตัดสินใจจ้างงานแรงงานสูงวัยนั้นถือเป็นสิทธิของนายจ้างในการที่จะจ้างหรือไม่จ้างแรงงานสูงวัย   ตามเหตุผลและสถานการณ์ของแต่ละบริษัท โดยที่รัฐไม่มีอำนาจในการที่จะเข้าแทรกแซงการตัดสินใจ       ของสถานประกอบกิจการ ดังนั้น บริษัทหรือสถานประกอบกิจการมีความจำเป็นต้องประเมินถึงประโยชน์และ  ต้นทุนการจ้างแรงงานสูงวัยนั้นให้ผลที่คุ้มค่าแก่บริษัทหรือสถานประกอบกิจการมากน้อยเพียงใด  โดยผลประโยชน์และต้นทุนนั้นอาจอยู่ในรูปแบบของตัวเงินหรือที่ไม่เป็นตัวเงิน ซึ่งต้องมีการประเมินความคุ้มค่าและปัจจัยเฉพาะของแรงงานแต่ละคน ประเภทของอุตสาหกรรม และอาชีพที่แตกต่างกันออกไป

 

สรุปสาระสำคัญ

       ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยนับตั้งแต่ปี 2548 และจากการประมาณการประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 นอกจากนี้ คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้นอย่างมากในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของคนไทยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 58 ปีเมื่อ 50 ปีก่อน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 75 ปี ในปี 2557 และเมื่ออายุ 60 ปีแล้ว คนไทยจะมีอายุคาดเฉลี่ยต่อไปอีกประมาณ 22 ปี

       จากสภาพโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและกำลังส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยในอนาคตอันใกล้นี้ประกอบกับผลพวงจากนโยบายคุมกำเนิดที่ได้ผลจากอดีตที่ผ่านมามีผลต่อกำลังคนโดยเฉพาะวัยแรงงานภาคการผลิตทยอยลดลง คาดว่าจะมีผลกระทบต่อกำลังการผลิตและการขาดแคลนแรงงานเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันประชากรไทยมีสุขภาพแข็งแรง  และมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ทั้งยังมีสมรรถนะและความต้องการที่จะทำงานต่อ  จึงมีความเป็นไปได้ที่จะขยายอายุการจ้างงานผู้สูงวัยทำงานต่อ  จะเป็นทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน

       ในด้านการเสริมสร้างการจ้างแรงงานสูงวัยจำเป็นต้องมีการวางแผนทั้งในระดับประเทศ โดยมุ่งประสงค์ในเชิงเศรษฐกิจมหภาค คือ การทำให้ผลผลิตในระดับประเทศยังคงอยู่ในระดับเดิมเป็นการดำรงความสามารถในการผลิตให้กับประเทศ การและสร้างหลักประกันทางรายได้ให้กับผู้สูงวัย ในขณะที่ความจำเป็นของการจ้างแรงงานสูงวัยในระดับจุลภาค คือ การที่แรงงานสูงวัยยังเป็นประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจ เช่น ประสบการณ์ของแรงงานสูงวัย การถ่ายทอดองค์ความรู้ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของแรงงานสูงวัย      ซึ่งหากมีการขยายอายุการทำงานให้กับแรงงานสูงวัยแล้วย่อมส่งผลที่ดีทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับบริษัท ในขณะที่แรงงานสูงวัยที่ยังมีศักยภาพก็ยังสามารถทำงานและมีรายได้ที่เหมาะสม และไม่เป็นภาระพึ่งพิงแก่ครอบครัว

 

ความเชื่อมโยงสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย

       กลุ่มแรงงานผู้สูงอายุนั้นมีผลต่ออุตสาหกรรมทุกประเภท ซึ่งหากมีการจ้างแรงงานผู้สูงอายุเหล่านี้   ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อองค์กรหรือสถานประกอบกิจการ เนื่องจากแรงงานผู้สูงอายุมีประสบการณ์การทำงาน เรื่องการตัดสินใจและควบคุมอารมณ์ได้ดีหากได้รับการส่งเสริมอย่างถูกวิธี

       การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยสำหรับแรงงานผู้สูงอายุนั้น จำเป็นต้องเริ่มที่ทัศนคติของผู้ปฏิบัติงาน โดยต้องเริ่มสร้างกิจกรรมหรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันโรค ควบคู่ไปกับการส่งเสริมสุขภาพให้กับผู้ปฏิบัติงานที่เริ่มต้นเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุ รวมทั้งการจัดบริการอาชีวอนามัยถือเป็นหัวใจสำคัญ    ในการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวกับงานให้แก่แรงงานผู้สูงอายุ มีการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี ให้สามารถดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานในลักษณะเดิมได้

 

แนวทางขับเคลื่อนความปลอดภัยในการทำงาน

       การจ้างแรงงานผู้สูงอายุนั้นนอกจากให้ผู้สูงอายุมีอาชีพแล้วยังส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความสุขคือ           ได้ทำงานที่ตนเองชอบและมีรายได้ของตนเอง  การทำงานของผู้สูงอายุจึงเป็นวิธีการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีรายได้เป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหารและด้านอื่น ๆ  ซึ่งมีผลทางอ้อมต่อความั่นคงด้านสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลสุขภาพ  ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้แก่แรงงานผู้สูงอายุ

       หัวใจสำคัญในการในการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวกับการทำงานในกลุ่มแรงงานผู้สูงอายุคือ การจัดบริการอาชีวอนามัย  ทั้งในส่วนของสถานประกอบกิจการและหน่วยบริการปฐมภูมิ  ซึ่งเป็นการให้การดูแลสุขภาพ        ผู้ประกอบอาชีพให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดโรคภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย  เป็นการบริการอาชีวอนามัยทั้งเชิงรุก เช่น การประเมินปัจจัยเสี่ยงจากการทำงาน  การให้อาชีวสุขศึกษา  เป็นต้น  และการบริการอาชีวอนามัยเชิงรับที่เน้นการตรวจคัดกรองตามความเสี่ยงของงานแต่ละประเภท  การปฐมพยาบาล  เป็นต้น

 

ข้อมูลจาก

การสัมมนาวิชาการ งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 32

  1. ดร.นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์
  2. พญ.นารา กุลวรรณวิจิตร
  3. พญ.พิชญพร พูนนาค
  4. นายพนัส ไทยล้วน

 

Read 6321 times Last modified on วันพุธ, 02 ตุลาคม 2562 09:50

บทความที่ได้รับความนิยม