This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพุธ, 13 มกราคม 2559 03:02

เหตุการณ์เพลิงไหม้บริษัท มหาจักรวิศวกร จำกัด

กรณีเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ บริษัท มหาจักรวิศวกร จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ ๙๑ ถนนพระรามที่ ๒ ซอย ๒๓ แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการผลิตอะไหล่รถยนต์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๘

สาเหตุน่าจะเกิดจากประกายไฟจากการอาร์ค สปาร์ค ความร้อนสะสม หรือการถ่ายเทประจุจากไฟฟ้าสถิตของอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่อยู่บริเวณที่คนงานเทน้ำมันเก่าชนิดที่ไวไฟและติดไฟได้ เช่น เบนซิน ดีเซล และน้ำยาทำความสะอาด B- Cleaner ลงพื้นเพื่อใช้ทำความสะอาดพื้น สำหรับเตรียมทำบุญบริษัทฯ ในวันจันทร์ ทำให้เกิดการระเบิดและเพลิงลุกไหม้บริเวณที่เกิดเหตุภายในโรงงาน ตัวอาคารไม่ได้รับความเสียหาย เป็นเหตุให้มีคนงานเสียชีวิต ๗ คน และได้รับบาดเจ็บ จำนวน ๑๒ คน

 

คุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของน้ำมันก๊าด

เบนซิน เป็นสารเคมีไวไฟ เป็นเชื้อเพลิงและตัวทำละลายในอุตสาหกรรม สามารถเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านการสัมผัสทางผิวหนังและลมหายใจ มีความเป็นพิษสูง ทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังและเยื่อบุอ่อน กดการหายใจ และเป็นสารก่อมะเร็ง เบนซินเป็นของเหลวที่มีความไวไฟในระดับสูง มีจุดวาบไฟต่ำมาก (Flash point: -๑๑ องศาเซลเซียส) และความเข้มข้นต่ำสุดที่เชื้อเพลิงจะติดไฟได้ต่ำ (Lower explosive limit: ๑.๔ %/v)

ดีเซล เป็นสารเคมีไวไฟ เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม สามารถเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านการสัมผัสทางผิวหนังและลมหายใจ มีความเป็นพิษสูง ทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังและเยื่อบุอ่อน กดการหายใจ และเป็นสารก่อมะเร็ง ดีเซลเป็นของเหลวที่มีความไวไฟในระดับสูง มีจุดวาบไฟต่ำ (Flash point: ๕๖ องศาเซลเซียส) และความเข้มข้นต่ำสุดที่เชื้อเพลิงจะติดไฟได้ต่ำ (Lower explosive limit: ๑.๐ %/v)

น้ำยาทำความสะอาด B-Cleaner เป็นสารเคมีผสม มีส่วนประกอบหลักคือ Iso Paraffin ร้อยละ ๖๐ 3-Methoxy-3-Methyl-1-butanol (M.M.B.) ร้อยละ ๓๕ เป็นสารขจัดคราบน้ำมันในอุตสาหกรรม สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านการสัมผัสทางผิวหนังและลมหายใจ ทำให้ผิวหนังแห้งและอาจทำให้ระคายเคืองผิวหนังและทางเดินหายใจได้เล็กน้อย เป็นของเหลวที่มีความไวไฟในระดับปานกลาง มีจุดวาบไฟต่ำ (Flash point: ๖๑ องศาเซลเซียส) และความเข้มข้นต่ำสุดที่เชื้อเพลิงจะติดไฟได้ต่ำ (Lower explosive limit: ๑.๐ %/v)

สารเคมีไวไฟเหล่านี้ นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพของแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติภัยร้ายแรงจากการเกิดอัคคีภัยและการระเบิดในสถานประกอบกิจการได้ ดังนั้น หากบริเวณที่ลูกจ้างทำงานเป็นพื้นที่อันตรายซึ่งมีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดเปลวไฟ การสปาร์คของอุปกรณ์ไฟฟ้า ความร้อนสูงสะสม และการถ่ายเทประจุจากไฟฟ้าสถิต อยู่ใกล้กับบริเวณที่เก็บหรือใช้หรือปนเปื้อนสารเคมีไวไฟ หรือมีไอระเหยของสารเคมีไวไฟสะสมอยู่ เมื่อเกิดประกายไฟหรือพลังงานความร้อนที่พอเหมาะกับปริมาณของสารเคมีไวไฟและอากาศในบริเวณนั้น จะทำให้สารเคมีไวไฟจุดติดไฟก่อให้เกิดเพลิงไหม้หรือการระเบิดขึ้นได้ง่าย

 

มาตรการในการป้องกัน

นายจ้างต้องดำเนินการป้องกันสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอัคคีภัยในบริเวณสถานที่เก็บรักษาหรือบริเวณที่มีการทำงานกับสารเคมีอันตรายซึ่งเป็นวัตถุไวไฟ โดยป้องกันที่แหล่งกำเนิดความร้อน การกระจายตัวของ ความร้อนและประกายไฟจากอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือไฟฟ้าสถิต และ นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานกับสารเคมีอันตรายและดูแลให้มีการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสม จัดทำข้อปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยและการควบคุมการใช้สารเคมีอันตราย จัดให้มีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการ รวมทั้งควบคุมการใช้งานสารเคมีให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และวิธีการทำงานที่ถูกต้อง

เอกสารอ้างอิง

  • ACGIH 2015 Threshold Limit Values for Chemical Substances and Physical Agents and Biological Exposure Indices
  • SIDs Initial Assessment Report for SIAM198, UNEP Publications, 2004
  • Safety Data Sheet (SDS) Database, University of Pittsburgh, USA
Read 7395 times Last modified on วันอังคาร, 10 มกราคม 2560 11:29

บทความที่ได้รับความนิยม