This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพฤหัสบดี, 29 ตุลาคม 2563 14:31

12 พ.ย. วันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน

        ย้อนกลับไปเมื่อ 35 ปีที่แล้ว ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2528 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2528 โดยข้อกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้สถานประกอบกิจการ จัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน  โดยรับผิดชอบงานความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง  รวมถึงการพัฒนางานความปลอดภัยในการทำงาน  จนต่อมาได้เกิดองค์กรภาคีเครือข่ายและชมรมของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานต่างๆ ทั่วประเทศ  ซึ่งมีกระบวนการทำงานเป็นการทำงานแบบรวมพลังประชารัฐ ในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมและพัฒนางานด้านความปลอดภัยในการทำงาน  และได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน

         ในปี พ.ศ. 2536 ได้มีการจัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม  โดยการโอนภารกิจบางส่วนจากกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย (ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อกระทรวงในปี พ.ศ. 2545 โดยใช้ชื่อใหม่ว่า กระทรวงแรงงาน)   ซึ่งในปี 2559 กระทรวงแรงงาน ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  พ.ศ. 2549 กำหนดให้สถานประกอบกิจการจำนวน  14 ประเภทกิจการจะต้องให้มี “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน” ในแต่ละระดับตามขนาดและประเภทกิจการ

 

 

          จป.วิชาชีพ เป็นบุคลากรที่สำคัญในการขับเคลื่อน และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการต่าง ๆ มีการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและเสนอแนะให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย แนะนำ กำกับดูแล รับผิดชอบให้ผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการได้รับความปลอดภัยในการทำงาน และสำรวจตรวจสอบความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องมือ  ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการทำงาน เสนอให้มีการป้องกัน หรือแก้ไขปรับปรุงสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการให้ได้มาตรฐาน ตามกฎหมายความปลอดภัยที่ประกาศใช้

 

ระดับของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน

  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร

  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน

  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค

  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง

  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ

 

 

 

หน้าที่การทำงานของ จป.วิชาชีพ

  1. ตรวจสอบ และเสนอแนะให้นายจ้างปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

  2. วิเคราะห์งาน เพื่อชี้บ่งอันตราย รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกัน หรือขั้นตอนการทำงานอย่างปลอดภัยเสนอต่อนายจ้าง

  3. ประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการทำงาน

  4. วิเคราะห์แผนงานโครงการ รวมทั้งข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่าง ๆ และเสนอแนะมาตรการความปลอดภัยในการทำงานต่อนายจ้าง

  5. ตรวจประเมินการปฏิบัติงานของสถานประกอบกิจการให้เป็นไปตามแผนงาน โครงการ หรือมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน

  6. แนะนำให้ลูกจ้างปฏิบัติตามข้อบังคับและคู่มือในการทำงาน

  7. แนะนำ ฝึกสอน อบรมลูกจ้าง เพื่อให้การปฏิบัติงานปลอดจากเหตุอันจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงาน

  8. ตรวจวัด และประเมินสภาพแวดล้อมในการทำงาน

  9. เสนอแนะต่อนายจ้าง ให้มีการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานที่เหมาะสมกับสถานประกอบกิจการ และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

  10. ตรวจสอบสาเหตุ และวิเคราะห์การประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือนร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงาน และรายงานผล

  11. รวบรวมสถิติ วิเคราะห์ข้อมูล จัดทำรายงาน และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง

  12. ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างมอบหมาย

 

           เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน  เป็นอาชีพที่มีส่วนช่วยป้องกันและลดการประสบอันตรายจากการทำงานซึ่งทำงานภายใต้กฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง  ช่วยให้ลูกจ้างและพนักงานมีความปลอดภัยในการทำงาน    สสปท. ขอเป็นกำลังใจและขอยกย่อง จป.ทุกท่าน ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่น เพื่อให้ทุกคนมีความปลอดภัยในการทำงาน

 

 

Read 10985 times Last modified on วันพฤหัสบดี, 29 ตุลาคม 2563 15:43

บทความที่ได้รับความนิยม