This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันจันทร์, 23 พฤศจิกายน 2563 10:43

อันตรายจากหน้างาน…ควรจัดการอย่างไร ?

       คุณเคยสงสัยไหมว่า ”ทำไมถึงยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับคนทำงาน ทั้งๆ ที่มีการวางแผนก่อนเริ่มงานไว้อยู่แล้ว” หากมีคำถามนี้เกิดขึ้น นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเราละเลยบางอย่างไป แล้วสิ่งที่เราละเลยไปมันคืออะไรล่ะ หากตัดเรื่องความประมาทหรือความไม่รอบคอบของคนทำงานออกไป สิ่งที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ ก็คงมาจากแผนงานที่วางไว้ไม่รัดกุมมากพอ หรือแผนนั้นขาดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพราะหน้างานที่มีการเปลี่ยนแปลงเกือบตลอดเวลา ถือเป็นแหล่งอันตรายแห่งหนึ่ง ที่ทำให้คนทำงานเกิดอุบัติเหตุได้มากที่สุด ฉะนั้นการจัดการสภาพหน้างานให้ดีจะเป็นเหมือนการ์ดคอยป้องกันให้กับคนทำงานอีกชั้น อย่างไรก็ตาม การจัดสภาพหน้างานให้ดีเพียงอย่างเดียวคงไม่พอที่จะทำให้คนทำงานเกิดความมั่นใจต่องานที่ทำ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของ “นายจ้าง” ที่จะสร้างขวัญกำลังใจให้แก่คนทำงาน

          หากมองในมุมของนายจ้าง ก็คงอยากจะหาตัวเลือกที่จะช่วยให้คนทำงานมีสุขอนามัยที่ดีและยังคุ้มค่าต่อการลงทุนนั่นหมายถึง เมื่อคุณลงเงินลงแรงที่จะทำให้ลูกจ้างมีความปลอดภัยมีสุขภาพอนามัยที่ดีเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างผลผลิต ไม่ว่าจะเป็นชิ้นงานหรือบริการ ให้แก่องค์กรของคุณ คุณต้องได้ผลสัมฤทธิ์ในการลดความเสี่ยง ลดความสูญเสีย และเพิ่มผลกำไร ในทุกกิจกรรมขององค์กร ดังนั้น “ระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน”  จึงเป็นตัวเลือกที่ดีและน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากเป็นการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุและค่ารักษาพยาบาลของลูกจ้าง ทั้งยังสอดคล้องกับกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553 และยังช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและการค้าอีกด้วย

       เราลองไปดูกันดีกว่า ว่าระบบการจัดการด้านความปลอดภัยฯ นั้น มีองค์ประกอบอะไรบ้าง  เริ่มจาก

  1. นโยบายด้านความปลอดภัยฯ การกำหนดนโยบายโดยผู้บริหารสูงสุดถือเป็นอย่างแรกที่สถานประกอบกิจการควรทำ เพราะมีผลต่อการกำหนดเป้าหมายและการพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัยฯ ให้นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การกำหนดนโยบายควรจัดทำให้เหมาะสมกับขนาด ลักษณะของกิจกรรม และความเสี่ยงของสถานประกอบกิจการ

  2. โครงสร้างการบริหารด้านความปลอดภัยฯ นโยบายความปลอดภัยฯ ที่ถูกประกาศไว้ต้องมีการนำไปสานต่อ ดังนั้น สถานประกอบกิจการจึงจำเป็นต้องกำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลหรือหน่วยงาน ให้ชัดเจน  และควรมีการจัดฝึกอบรม สื่อสาร รวมถึงการจัดทำเอกสารระเบียบหรือข้อปฏิบัติ ในทุกกิจกรรมเพื่ออธิบายภาพรวมของกระบวนการทำงานว่าเกี่ยวข้องกับอะไร ใคร เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร

  3. แผนงานด้านความปลอดภัยฯ และการนำไปปฏิบัติ การจัดทำแผนงานด้านความปลอดภัยฯ จะต้องมีความสอดคล้องกับนโยบายและกฎหมายด้านความปลอดภัยฯ และเพื่อให้แผนงานสามารถบ่งบอกถึงการบรรลุวัตถุประสงค์ของสถานประกอบกิจการ อย่างน้อยในแต่ละแผนงานต้องมีการกำหนดผู้รับผิดชอบ มาตรการควบคุมการดำเนินงานตามแผน งบประมาณและระยะเวลาดำเนินการ รวมทั้งกำหนดเกณฑ์การวัดผลและการติดตามประเมินผลไว้ด้วย

  4. การประเมินผลและทบทวนการจัดการด้านความปลอดภัยฯ ไม่ว่าจะเป็นแผนงาน หรือระเบียบข้อปฏิบัติต่างๆ เมื่อนำมาใช้แล้ว ต้องมีการประเมินเพื่อชี้วัดผลการปฏิบัติทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และต้องมีการนำมาทบทวนความครอบคลุมกับอันตรายหรือความเสี่ยงของสถานประกอบกิจการตลอดจนทบทวนประสิทธิผลของการจัดการด้านความปลอดภัยฯ ว่าเป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์ขององค์กรหรือไม่

  5. การดำเนินการปรับปรุงด้านความปลอดภัยฯ เมื่อสถานประกอบกิจการดำเนินการมาทั้ง 4 องค์ประกอบข้างต้นแล้ว ท่านจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีตรงตามนโยบายและวัตถุประสงค์ขององค์กร แต่ความมั่นคงและยั่งยืนขององค์กรจะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบได้ สถานประกอบกิจการต้องจัดทำข้อปฏิบัติสำหรับการแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น และการป้องกันแนวโน้มต่อความบกพร่องที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการจัดการด้านความปลอดภัยฯ อย่างต่อเนื่อง            

 

         แต่สิ่งที่สถานประกอบกิจการต้องไม่ลืม คือ ในทุกขั้นตอนควรให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมด้วย รวมถึงจะต้องมีการบอกกล่าวแก่ลูกจ้าง เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน รวมถึงต้องมีการตรวจประเมินและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยฯ มีความมั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริง  

        สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ได้จัดทำมาตรฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Occupational Safety  and Health Management System Standard) เพื่อเป็นแนวทางให้กับสถานประกอบกิจการนำไปปฏิบัติ อีกทั้งยังมีการนำมาตรฐานนี้ไปทดลองใช้กับสถานประกอบกิจการในโครงการ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นมีแนวโน้มที่ดี

มาตรฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทางาน (Occupational Safety and Health Management System Standard)

          สถานที่ทำงานใดมีระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีมั่นคง และยั่งยืน ก็ถือว่า win-win ทั้งสองฝ่าย win แรกคงเป็นโชคดีของคนทำงานที่มีนายจ้างให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยฯ และ win ที่สอง คงเป็นของนายจ้างที่จะมีภาพลักษณ์ของสถานประกอบกิจการที่ดี และได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้บริการอย่างแน่นอน

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักบริการวิชาการ สสปท.

 

Read 9443 times Last modified on วันจันทร์, 23 พฤศจิกายน 2563 11:09

บทความที่ได้รับความนิยม