This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันศุกร์, 18 มิถุนายน 2564 12:58

เรื่องที่โรงงานและสถานประกอบการในเขตระบาดของ COVID 19 ควรรู้

       เอกสารนี้ไม่ใข่เอกสารทางการของสถาบันใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงข้อเสนอของผู้เขียนเพื่อให้แง่คิดบางประการสำหรับผู้ประกอบการ หรือ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล เจ้าหน้าที่ฝ่ายความปลอดภัยหรือ จ.ป. (ซึ่งต่อไปจะเรียกรวมสั้น ๆ ว่า “ผู้ประกอบการ”) นำไปพิจารณาประกอบการวางแผนป้องกันและแก้ปัญหา COVID-19 (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกง่าย ๆ ว่า “โควิด”) ในโรงงานหรือสถานประกอบการ (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกสั้น ๆ ว่า “สถานประกอบการ” ) ของตน

       คำแนะนำเพิ่มเติมในเอกสารฉบับนี้ จะอภิปรายเฉพาะประเด็นที่ท่านอาจจะมีข้อสงสัยแต่ไม่ค่อยได้พบคำตอบอย่างเป็นทางการ ถ้ามีข้อความใดขัดแย้งกับประกาศหรือคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ใช้คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเกณฑ์ ถ้ามีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจอาจจะสอบถามได้จากสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่

ประการแรก

       ผู้เขียนมีข้อสมมติว่าสถานประกอบการของท่านมีมาตรฐานทั่วไปทางด้านความปลอดภัยเป็นไปตามกฎระเบียบของกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงาน

ประการที่สอง

       ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้ประกอบการ มีความรู้และดำเนิการพื้นฐานเกี่ยวกับโรคโควิด ซึ่งรวมทั้งแนวทางการป้องกันด้านอนามัยส่วนบุคคล เช่น การสวมหน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่าง สุขอนามัยด้านการรับประทานอาหาร ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขให้คำแนะนำต่อประชาชน โดยได้ปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด

       โปรดจำไว้ว่า สุขอนามัยพื้นฐานของสถานประกอบการทั้งสองประการ สำคัญกว่าการตรวจคัดกรอง ถ้าท่านยังไม่ผ่านคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งเบื้องต้น สถานประกอบการของท่านถือได้ว่ามีความเสี่ยงในการแพร่โรคโควิดมากกว่าสถานที่อื่น ๆ ทั่วไป ความเสี่ยงนี้จะนำมาซึ่งความเสียหายทางสุขภาพของพนักงาน และครอบครัวของท่าน และนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางการเงินและชื่อเสียงของกิจการของท่าน

ประเด็นความเสี่ยงในการรับเชื้อจากภายนอก

       ถึงแม้สถานประกอบการของท่านจะดำเนินการได้มาตรฐานทั้งสองประการที่กล่าวแล้วก็ตาม ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากภายนอกก็ยังมีอยู่ ความเสี่ยงนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสองประการ คือ ในขณะนั้นมีเชื้ออยู่ภายนอกหรือไม่ และสมาชิกของสถานที่มีพฤติกรรมที่อาจจะนำเชื้อเข้ามาในสถานที่นั้นมากน้อยเพียงไร ในยามที่ไม่มีเชื้อโควิดระบาด การเข้าออกสถานประกอบการของสมาชิกจะมีโอกาสนำเชื้อเข้ามาได้น้อย แต่ในยามที่เกิดโรคระบาดในชุมชนใกล้เคียง หรือ ชุมชนต้นทางของพนักงาน ตัวพนักงานและญาติหรือเพื่อนอาจจะนำเชื้อเข้ามาสถานประกอบการเมื่อไรก็ได้ เชื้อโควิดเป็นเชื้อติดต่ออันตราย เมื่อเข้ามาแล้วมาตรการปรกติจะป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายได้ยาก ในสภาพการทำงานที่บุคลากรต้องใกล้ชิดกันมาก อาจจะเป็นเวลานาน และ/หรือ การควบคุมสุขอนามัยด้านทางเดินหายใจย่อหย่อน เชื้อก็จะระบาดไปทั่วสถานประกอบการ

การจัดการคนเข้าออก

เมื่อมีการระบาด สถานประกอบการจึงต้องป้องกันไม่ให้มีการเข้าออกโดยไม่จำเป็น ถ้าจะให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นไปกว่าธรรมดา สถานประกอบการน่าจะต้องจัดบริเวณกักตัวคนทำงานและบุคคลภายนอกที่เดินทางมาจากภายนอก แยกออกจากที่ทำงานและที่พักของคนส่วนใหญ่เป็นเวลา 14 วัน ถ้ามีอาการเช่น ไข้ หรือ เป็นหวัด ก็ให้พบแพทย์ ถ้าไม่มีอาการครบกำหนด 14 วันจึงให้ทำงาน สำหรับสถานประกอบการที่ต้องมีบุคคลภายนอกมาใช้บริการ เช่น ศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ ต้องเข้มงวดต่อพฤติกรรมอนามัยของลูกค้าอย่างสุภาพ คนทำงานจึงจะปลอดภัย ความเข้มงวดเท่านั้นที่จะทำให้สถานประกอบการและสมาชิกทั้งหมดปลอดภัยจากโควิด

การวัดอุณหภูมิ

       การวัดอุณหภูมิในปัจจุบันทำได้ไม่ยาก ต้นทุนไม่สูงมาก เป็นวิธีคัดกรองเบื้องต้นให้คนเข้าสู่สถานประกอบการหรือสถานที่ซึ่งอาจจะมีการถ่ายทอดเชื้อโควิดได้ง่าย ถ้าผู้ถูกตรวจมีอุณหภูมิสูงกว่ามาตรฐานที่ทางราชการกำหนด ก็ไม่ควรได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ ถ้าเป็นพนักงานก็สมควรจัดให้ไปพบผู้มีความรู้ทางการแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจแล็บต่อไป ถ้าเป็นลูกค้าหรือผู้มารับบริการ ต้องไม่ให้เข้ามาในตัวอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในอาคาร

การติดตามพนักงานหรือสมาขิกที่ขาดงาน หรือ เจ็บป่วย

       ในช่วงโควิดระบาด ถ้ามีพนักงานขาดงานหรือลา ควรตรวจสอบว่าเกิดการเจ็บป่วยที่อาจจะเกี่ยวข้องกับโควิดหรือไม่ ถ้าสงสัย ควรแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อถ้าจำเป็น

การสอบสวนโรค

       เมื่อมีพนักงานคนไดคนหนึ่งป่วยด้วยโรคโควิด จะมีเจ้าหน้าทีสาธารณสุขมาสอบสวนโรค เพื่อหาว่ามีผู้ใดในที่ทำงานเจ็บป่วยจากโควิด หรือ แพร่เชื้อโควิดหรือไม่ ถ้าตรวจพบจะได้จัดการแยกตัวผู้ป่วยหรือผู้แพร่เชื้อเหล่านั้นอย่างเหมาะสม สถานประกอบการต้องออกคำสั่งให้พนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกคนร่วมมือกับพนักงานสอบสวนโรคอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายต่อไปในสถานประกอบการและในชุมชน

การตรวจคัดกรองเชิงรุก

       ถ้าทางสาธารณสุขคาดว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในพื้นที่จำเพาะหรือกลุ่มสถานประกอบการหรือโรงงาน หรือ หมู่บ้านใดเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ไม่มีผู้ใดในสถานที่นั้นป่วยชัดเจน พนักงานสอบสวนโรคก็อาจจะออกไปตรวจค้นหาผู้แพร่เชื้อและผู้ป่วยในสถานที่เหล่านั้นด้วยวิธีคัดกรองเชิงรุกซึ่งจะมีการเก็บตัวอย่างสิ่งของส่งตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วยเสมอ เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ทำให้เชื้อในพื้นที่ลดลงเร็วขึ้น

       ถ้าจำนวนประชากรเป้าหมายในการคัดกรองเชิงรุกมีจำนวนไม่มาก พนักงานสอบสวนโรคก็จะตรวจสมาชิกของสถานประกอบการทุกคนเป็นราย ๆ ไป เพื่อแยกผู้แพร่เชื้อและผู้ป่วยออกจากคนปรกติ แต่ถ้าประชากรเป้าหมายมีมากเกินกว่าที่จะตรวจได้ทุกคน ทีมสอบสวนโรคจะใช้วิธีสุ่มตรวจพนักงานของสถานประกอบการจำนวนหนึ่งไม่ได้ตรวจทุกคน ถ้าพบว่ามีผู้ติดเชื้อก็จะดำเนินการตรวจแบบละเอียดต่อไป ถ้าไม่พบก็อาจจะนัดกลับมาสุ่มตรวจใหม่ในภายหลัง

การเก็บสิ่งส่งตรวจและการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ (ขอเรียกสั้น ๆ ว่าตรวจแล็บ)

       การตรวจแล็บ มีบทบาทสำคัญสองประการ ประการแรก คือ ตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคนั้น ๆ (ในกรณีนี้ คือ โควิด) หรือโรคอื่น ซึ่งปรกติจะใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล กับประการที่สอง คือ ตรวจเพื่อคัดกรองสำหรับคนที่ไม่มีอาการในระหว่างการสอบสวนโรค เพื่อดูว่าคนที่ถูกตรวจมีเชื้อที่จะแพร่ให้ผู้อื่นได้หรือเปล่า ซึ่งเรียกว่าตรวจคัดกรอง

       วิธีการตรวจคัดกรองมีหลายวิธี ที่ใช้เป็นมาตรฐานสำหรับประเทศไทยซึ่งกระทรวงสาธารณสุขใช้และรับรองโดยองค์การอนามัยโลก คือ การใช้ไม้พันสำลีแยงเข้าไปยังส่วนหลังของโพรงจมูกเพื่อป้ายเอาน้ำมูกน้ำลายที่อยู่ส่วนนั้นออกมาตรวจหาสารพันธุกรรมโดยวิธีที่เรียกว่า RT-PCR คำว่า PCR ย่อมาจาก polymerase chain reaction ปรกติเป็นการขยายรหัสพันธุกรรมหรือ DNA ที่ต้องการตรวจหาหลาย ๆ รอบ เมื่อเวลาผ่านไปหลาย ๆ รอบ DNA เฉพาะรหัสส่วนนั้นก็จะมีปริมาณมากมายมหาศาล ตรวจหาได้ง่าย ดังนั้นถึงแม้มีเชื้ออยู่น้อยวิธีนี้ก็จะตรวจได้พบ เราเรียกว่าวิธีตรวจนี้มีความไวสูง ข้อดีอีกประการหนึ่ง คือ มันจะขยายเฉพาะรหัสที่เราต้องการเท่านั้น รหัสอื่น ๆ ไม่ถูกขยายและจะตรวจไม่พบ คุณสมบัตินี้เราเรียกว่ามีความจำเพาะสูง ข้อจำกัด คือการตรวจ RT-PCR ต้องการความชำนาญสูง ค่าใช้จ่ายสูง และต้องรอให้ DNA เพิ่มจำนวนเป็นเวลาหลายชั่วโมง แต่ข้อจำกัดเหล่านี้มีน้ำหนักน้อยกว่าข้อดี กระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกจึงเลือกใช้วิธีนี้เท่านั้น

       วิธีอื่น ๆ ที่มีอยู่ ส่วนใหญ่ใช้เวลาสั้นกว่า เรียกกันทั่วไปว่า rapid test เช่น การตรวจเลือดหาแอนติบอดี้ การตรวจน้ำลายหาแอนติเจน วิธีเหล่านี้กระทรวงสาธารณสุขไม่ใช้ เพราะมีความไวและความจำเพาะต่ำ ผู้ที่แพร่เชื้อบางคนอาจจะตรวจไม่พบ (เรียกว่าเป็นผลลบปลอม) ไม่ได้รับการกักตัว ไปแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อ ขณะเดียวกัน ผู้ที่ไม่มีเชื้อก็อาจจะให้ผลตรวจเป็นบวก ทำให้เกิดความสับสน

การขอให้สถานประกอบการได้รับการตรวจคัดกรอง

       ทีมงานสอบสวนโรคมีงานที่ต้องทำมาก และทำไม่ค่อยทันในช่วงเวลาและสถานทีซึ่งมีโรคระบาดหนัก การคัดกรองเชิงรุกเป็นงานเพิ่มจากการสอบสวนโรคปรกติที่ต้องทำเมื่อมีความจำเป็น เช่น สงสัยว่ามีการติดเชื้อแฝงอยู่ในบางพื้นที่ดังที่ได้กล่าวแล้ว ถ้าสถานประกอบการใดสงสัยว่าอาจจะมีพนักงานของตนแพร่เชื้ออยู่ อาจจะโทรศัพท์ขอคำแนะนำจากสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ ซึ่งอาจจะมาสอบสวนโรคเป็นกรณีพิเศษ ถ้ามีเบาะแสว่ามีการระบาดอยู่เป็นจำนวนมาก

ใช้บริการของสถานบริการในการตรวจคัดกรองพนักงานดีไหม และ ได้ไหม

       สำหรับกรณีโควิด การตรวจคัดกรองที่ได้มาตรฐานคือ RT-PCR ที่กล่าวมาแล้วมีต้นทุนสูง รัฐบาลให้บริการฟรีด้วยเหตุผลที่เป็นความมั่นคงของชาติทางด้านสุขภาพ ถ้าโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเอกชนจะรับให้บริการ ควรปรึกษากับสำนักงานสาธารณสุขเจ้าของพื้นที่

       ที่สำคัญ ขอแนะนำไม่ให้โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใช้ rapid test ถึงแม้ว่าสถานประกอบการจะยินดีออกค่าใช้จ่ายเอง ทั้งนี้ เพราะ rapid test อาจจะให้ผลลบปลอมทำให้พลาดในการหาผู้ติดเชื้อ ทำให้เชื้อแพร่ออกไปเป็นอันตรายต่อสังคม ถ้าได้ ผลบวกปลอมทำให้จัดผู้ปลอดเชื้อไปอยู่กับผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ การรวบรวมข้อมูลการสอบสวนโรคและสถิติการติดเชื้ออาจจะมีปัญหา ถ้าดำเนินการโดยทีมงานที่ไม่ได้ผ่านการอบรมมาเพื่อการนี้โดยตรง

การคัดแยกและการกักตัว

       ถ้าทีมสอบสวนโรคตรวจพนักงานของสถานประกอบการได้ทุกคน ผู้ติดเชื้อจะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวในห้องแยก ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด(ซึ่งเรียกว่าผู้สัมผัสโรค)ซึ่งตรวจไม่พบเชื้อ จะได้รับคำแนะนำให้แยกตัวอยู่ที่บ้านหรือห้องพักพิเศษในหอพัก เพราะในเวลาต่อไปคน ๆ นั้นอาจจะมีการแพร่เชื้อ ถ้ามีอาการก็ส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล ถ้าไม่มีอาการและกักตัวครบ 14 วันก็กลับเข้าทำงานได้ตามปรกติ

       มีบางกรณี ที่คนงานอยู่ด้วยกันใกล้ชิดเป็นเวลานานและเพิ่งมาตรวจพบเชื้อในคนงานจำนวนมากในนั้น เช่น เกิน 10% ขึ้นไป ทีมสอบสวนโรคอาจจะพิจารณาว่าคนงานทั้งหมดเป็นหน่วยเดียวกันของการติดเชื้อแล้ว แทนที่จะแยกกักตัวเป็นรายคน อาจจะขอกักตัวทั้งกลุ่มโดยให้อยู่รวมกันโดยไม่สัมผัสกับบุคคลภายนอก ถ้ามีคนใดป่วยมีอาการจึงแยกออกไปรักษาที่โรงพยาบาล

ความจำเป็นของโรงพยาบาลสนาม

       การจัดสถานที่สำหรับผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ไม่มีอาการมาอยู่รวมกัน บางทีก็เรียกว่าโรงพยาบาลสนาม ความจริงแล้วอาจจะไม่จำเป็นต้องให้หยูกยาเลย เพียงแต่จัดคนจำนวนมากมากักตัวรวมกันเพื่อสะดวกในการบริการ โรงพยาบาลสนามมักจะมีจัดตั้งขึ้นในที่ซึ่งอากาศปลอดถ่ายเทได้ดี เพื่อความปลอดภัยของผู้ดูแลและให้บริการ การแพร่เชื้อออกจากโรงพยาบาลสนามสู่ภายนอกเป็นไปได้น้อยมาก ถ้ามีการจัดการของเสียได้ถูกวิธี เชื้อโควิดจะถูกฆ่าโดยวัสดุที่มีอยู่ตามบ้านหรือโรงงาน เช่น สบู่ น้ำยาล้างจาน น้ำยาสระผม น้ำยาล้างห้องน้ำ แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ และ แสงแดด เชื้อโควิดออกจากร่างกายเป็นละอองน้ำซึ่งตกจากร่างกายในระยะ 2 เมตร ปรกติจะไม่สามารถปลิวไปตามลมออกจากอาคารไปติดคนภายนอก เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องนอน ที่ซักด้วยผงซักฟอก แล้วก็ถือว่าปลอดภัยใช้ได้กับทุกคน

       การสร้างโรงพยาบาลสนามเป็นเรื่องที่ยุ่งยากในการตระเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ตลอดจนการจัดการ ถ้าเป็นไปได้ การกักตัวอาจจะใช้บางส่วนของสถานประกอบการหรือโรงงาน เช่น หอพักบางหอพัก หรือ บ้านบางหลัง ที่เป็นส่วนหนึ่งของสถานประกอบการนั้น ๆ  ให้พนักงานที่จะต้องกักตัวเป็นกลุ่มขนข้าวของเครื่องใช้ของตนไปเข้าไปอยู่และทำความสะอาดกันเอง ส่งอาหารเข้าไปให้เตรียมกันเอง ทำความสะอาดให้ดีเหมือนชีวิตประจำวันทั่วไป ที่สำคัญให้แยกออกจากคนภายนอกจนกว่าทีมสาธารณสุขจะแน่ใจว่าทุกคนไม่แพร่เชื้อแล้ว ก็ยกเลิกการกักตัว ทำความสะอาดสถานที่กักตัวและนำกลับมาใช้งานได้หลังทิ้งไว้ระยะหนึ่ง

การทำความสะอาดฆ่าเชื้อในสำนักงานหรือสถานประกอบการ

       ในห้องซึ่งเป็นที่อยู่หรือที่ทำงานของผู้ติดเชื้อโควิดอาจจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ เชื้ออาจจะอยู่ได้นานถึง 7 วัน แต่น้ำยาฆ่าเชื้อชนิดต่าง ๆ ในท้องตลาด รวมทั้งสบู่ และแสงแดด ฆ่าเชื้อโควิดได้ผลดีมาก

       ควรเปิดหน้าต่าง ประตูห้องให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ถ้าเป็นไปได้ควรให้แสงแดดเข้าถึง ถ้าเป็นห้องปิดมิดชิดควรเปิดหลอดยูวี ฆ่าเชื้อทิ้งค้างคืนไว้ก่อนเข้าทำความสะอาด (แต่ต้องระวังว่าแสงยูวีเป็นอ้นตรายต่อสายตาและผิวหนัง) ถ้าห้องไม่จำเป็นต้องใช้งานทันที อาจจะรอสองสัปดาห์เพื่อให้ไวรัสที่อยู่ในห้องหมดฤทธิ์

       เตรียมแผนงานวัสดุและอุปกรณ์ในการฆ่าเชื้อ เช่น ถุงมือยางสำหรับทำความสะอาด หน้ากากอนามัย รองเท้าบู๊ต แว่นตากันน้ำกระฉอก น้ำผสมผงซักฟอกหรือน้ำสบู่ แอลกอฮอล์ 70% (ชนิดน้ำ ไม่ใช่เจล) น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ไฮเตอร์ คลอรอกซ์ ซึ่งผสมน้ำตามคำแนะนำของโรงงาน เชื้อโควิดตายง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อราคาแพง เช่น เดตอล

       ทำความสะอาดพื้นห้องด้วยน้ำสบู่ พื้นผิวเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เตียง เก้าอี้ ตู้ ควรเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ ล้างห้องน้ำด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำ ส่วนที่เป็นผ้าจัดการซักทำความสะอาด

       ห้ามรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มระหว่างทำความสะอาด

การแพร่เชื้อระหว่างการทำงาน

       คนที่แพร่เชื้อจำนวนมากไม่มีอาการและทำงานได้ตามปรกติ การทำงานจะแพร่เชื้อได้มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับชนิดของงาน งานที่มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อได้แก่ การทำงานใกล้ชิดกับคนอื่น ทั้งพนักงานด้วยกันเองและลูกค้าหรือผู้ได้รับบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องแคบที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก

       การทำงานที่เกี่ยวกับการปรุงหรือบริการอาหาร เช่น งานครัว งานเสริฟอาหาร ล้างถ้วยชาม

       งานที่ต้องออกเสียงดัง ทำให้ละอองจากลมหายใจออกได้แรงและไกล เช่น พากษ์หรือบรรยาย นักร้อง การสอนหน้าชั้น กองเชียร์

       งานบางอย่างที่อยู่คนเดียว ไม่สัมผัสใคร เช่น งานประเภท work from home ถือได้ว่าปลอดภัย

การดูแลสุขภาพของผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ

       ปรกติผู้ติดเชื้อทุกคนในประเทศไทยจะได้รับการดูแลที่โรงพยาบาล ในกรณีพิเศษอาจจะเป็นโรงพยาบาลสนาม ในประเทศที่มีการระบาดรุนแรง โรงพยาบาลจะไม่สามารถรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการได้ ต้องดูแลกันเองที่บ้าน หรือ หอพักของสถานประกอบการ

       ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการส่วนใหญ่ไม่ต้องการการดูแลพิเศษ ยกเว้นการสอบถามอาการและวัดอุณหภูมิ ถ้ามีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม หอบ เหนื่อย หรือ มีไข้ ก็ต้องรายงานแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา เพราะอาจจะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นผู้ป่วยโควิดซึ่งในบางกรณีจะมีอาการหนักหรือเสียชีวิตได้

การขนส่งผู้ติดเชื้อโควิดไปสถานพยาบาล

       ระหว่างการเดินทาง ผู้ติดเชื้ออาจจะแพร่เชื้อไปให้ผู้โดยสารหรือคนขับรถ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ผู้ติดเชื้อที่สถานประกอบการจะส่งไปโรงพยาบาลอาจจะต้องไปเอง หรือ โทรศัพท์ให้รถของโรงพยาบาลมารับ

การปิดสถานประกอบการถ้ามีสถานประกอบการมีโควิดระบาด

       เมื่อพนักงานคนใดคนหนึ่งติดเชื้อโควิด พนักงานที่เหลือซึ่งทำงานใกล้ชิดเช่นอยู่ในอาคารชั้นเดียวกันต้องได้รับการสอบสวนและตรวจเชื้อ ถ้าเป็นเพียงผู้สัมผัสที่ตรวจไม่พบเชื้อก็ต้องอยู่บ้านแยกตัวเอง 14 วันดังกล่าวมาแล้ว การปิดทั้งสำนักงานหรือโรงงานควรจะทำก็ต่อเมื่อมีข้อสงสัยว่าอาจจะมีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้ออย่างกว้างขวางทำให้ต้องกักตัวพนักงานเป็นจำนวนมาก มิฉะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งหมด แต่การทำงานต้องมีการเฝ้าระวังอาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ควรหารือกับสำนักงานสาธารณสุข 

การเคลมประกัน

       พนักงานรายวันควรติดต่อสำนักงานประกันสังคมว่าจะได้รับค่าชดเชยค่าแรงระหว่างการกักตัวหรือไม่อย่างไร (ขอโทษที่ผู้เขียนไม่มีความรู้เรื่องนี้) ถ้ามีหลักฐานว่าไม่ได้กักตัวเองจริงแต่หนีไปเที่ยว ระบบประกันไม่จ่ายเงินประกันให้พนักงานนั้น

บทความโดย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดอกเตอร์ วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์
13 มกราคม 2564

 

Read 30165 times Last modified on วันศุกร์, 18 มิถุนายน 2564 13:28

บทความที่ได้รับความนิยม