This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Thai languages
+66 2 448 9111
วันพุธ, 23 มิถุนายน 2564 11:42

การป้องกันการตกจากที่สูงสำหรับงานประกอบและการรื้อโครงสร้างนั่งร้านในงานก่อสร้าง

      ลักษณะของงานก่อสร้างส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยการทำงานบนที่สูง และงานใต้ดินที่มีระดับชั้นความลึกต่างๆ ซึ่งงานเหล่านี้จำเป็นต้องใช้นั่งร้านในการก่อสร้างเพื่อให้งานแล้วเสร็จ  ผู้ปฏิบัติงาน ช่าง หัวหน้างาน ตลอดจนวิศวกรที่ทำงานด้านการก่อสร้าง จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำงานบนที่สูงโดยไม่ใช้นั่งร้าน ด้วยเหตุนี้เราจึงควรมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับงานนั่งร้านให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการตกจากที่สูงในขณะปฏิบัติงานได้

      อันตรายจากงานนั่งร้าน มักจะพบเสมอในพื้นที่การก่อสร้าง  ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ กล่าวคือ เมื่อเริ่มทำงานที่มีระดับความสูงมากขึ้นจะต้องมีการสร้างนั่งร้าน และค้ำยันจนครอบคลุมสิ่งก่อสร้างทั้งหมด แล้วจึงเริ่มทำงานตกแต่งภายในและภายนอกของสิ่งก่อสร้าง การตกแต่งภายนอกต้องประกอบนั่งร้านจากชั้นล่างสุดจนกระทั่งถึงชั้นบนสุด ถ้าโครงสร้างอาคารมีความสูงมาก ในบางครั้งอาจจะใช้นั่งร้านชนิดแขวนเข้ามาช่วย เพื่อให้ระยะเวลาในการประกอบรวดเร็วขึ้นและลดขนาดของโครงสร้างนั่งร้านลง โดยส่วนมากจะพบเห็นอันตรายจากงานนั่งร้านที่มักเกิดขึ้นได้แก่

  • ผู้ปฎิบัติงานสะดุดหกล้ม

  • วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือตกลงเบื้องล่าง เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ด้านล่างและบริเวณใกล้เคียง

  • จุดคล้องเกี่ยวไม่เหมาะสม ทำให้ไม่สามารถรับแรงกระชากจากการตกจากที่สูงได้ หรือเกิดการเหวี่ยงผู้ปฎิบัติงาน (Swing fall) ไปกระแทกกับโครงสร้างด้านข้าง

  • ผู้ปฎิบัติงานตกจากนั่งร้านขณะทำการประกอบหรือรื้อโครงสร้างนั่งร้าน แล้วกระแทกกับพื้นหรือสิ่งกีดขวางเบื้องล่างเนื่องจากมีระยะตกที่ปลอดภัยไม่เพียงพอ

  • โครงสร้างนั่งร้านพังทลายขณะใช้งานเนื่องจากช่างนั่งร้านขาดความรู้ ทำให้โครงสร้างไม่เป็นไปตามมาตราฐาน

      ดังนั้น ช่างนั่งร้าน (Scaffolder) ซึ่งทำหน้าที่ประกอบและรื้อถอนนั่งร้าน และเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงสุดในการได้รับบาดเจ็บจากงงานนั่งร้าน จึงจำเป็นต้องคำนึงถึง “วิธีการสร้างพื้นที่ทำงานที่ปลอดภัย (Scaffolder’s Safe Zone) ในขณะทำการประกอบและการรื้อโครงสร้างนั่งร้าน” อย่างเคร่งครัด

 

วิธีการสร้างพื้นที่ทำงานที่ปลอดภัยในขณะทำการประกอบและรื้อโครงสร้างนั่งร้าน ประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. การวางแผน ในการวางแผ่นกระดานให้เต็มชั้นทำงาน พร้อมกับติดตั้งราวกันตก

 

      จากรูปภาพด้านบน คือ การสร้างพื้นที่ทำงานที่ปลอดภัยขณะติดตั้งนั่งร้าน ควรพิจารณาใช้แผ่นกระดานปูจนเต็มชั้นทำงาน เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำงานของผู้ปฏิบัติงาน แผ่นกระดานที่ใช้ควรมีลักษณะที่สมบูรณ์และมีความแข็งแรง เช่น แผ่นกระดานแบบไม้ ควรเป็นไปตามมาตรฐาน BS2482 และแผ่นกระดานควรล็อคเข้ากับคานรับ (Transom) โดยใช้ตัวล็อคแผ่นกระดาน เป็นต้น นอกจากนี้ ต้องติดตั้งราวกันตก (Guardrail)  สำหรับป้องกันไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานพลัดตกลงมาขณะทำงาน และต้องมีความสูงจากพื้นกระดานอย่างน้อย 95 มิลลิเมตร ตามมาตรฐาน NASC - TG20 & SG4

  1. การเลือกจุดคล้องเกี่ยวที่ถูกต้อง สำหรับอุปกรณ์ยับยั้งการตกส่วนบุคคล (Personal Fall Arrest System, PFAS.) ในขณะทำงาน

     

      ขณะปฏิบัติงานบนนั่งร้าน ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมใส่อุปกรณ์ยับยั้งการตกส่วนบุคคล ได้แก่ สายรัดนิรภัยชนิดเต็มตัว (Full Body Harness) และเชือกนิรภัย (Lanyard) เป็นอย่างน้อย โดยคล้องเกี่ยวตะขอ (Hook) ของเชือกนิรภัยไว้กับโครงสร้างนั่งร้านโดยตรงหรือคล้องเกี่ยวกับอุปกรณ์ยึดเกี่ยว (Anchor Device) ที่สร้างขึ้น ซึ่งการเลือกจุดคล้องเกี่ยวที่ถูกต้องและเหมาะสม ควรพิจารณาจาก ตัวอย่างจุดคล้องเกี่ยวที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม ตามรูปภาพแสดงด้านบน

  1. การเลือกใช้อุปกรณ์ยับยั้งการตกส่วนบุคคลชนิดพิเศษเพื่อให้สามารถลดระยะการตกให้สั้นที่สุด ในขณะทำการประกอบและการรื้อโครงสร้างนั่งร้าน

 

      อุปกรณ์ดังกล่าวคือ สายช่วยชีวิตส่วนบุคคลชนิดดึงกลับอัตโนมัติ  หรือ Personal Self Retracting Lanyard (P-SRL) ซึ่งเป็นสายช่วยชีวิตประเภทหนึ่ง ประกอบด้วยแถบโพลีเอสเตอร์หรือสายเคเบิลม้วนเก็บอยู่ในส่วนหุ้ม (Housing) ขณะใช้งานปลายด้านหนึ่งซึ่งเป็นตะขอจะเกี่ยวคล้องไว้กับจุดเกี่ยวยึดซึ่งอาจเป็นโครงสร้างของนั่งร้าน แถบหรือเคเบิลจะถูกดึงออกมาตามระยะทางที่ผู้ปฏิบัติงานเคลื่อนที่ไป และจะถูกม้วนเก็บโดยอาศัยกลไกที่อยู่ในส่วนห่อหุ้มเมื่อผู้ปฏิบัติงานเคลื่อนที่กลับมาใกล้จุดเกี่ยวยึด หากผู้ปฏิบัติงานพลาดตกจากนั่งร้าน แรงที่เกิดจากการเปลี่ยนท่าทางอย่างกระทันหันจะทำให้กลไกในส่วนห่อหุ้มทำงาน ล็อคแถบหรือสายเคเบิลไม่ให้ถูกดึงออกมา ผู้ปฏิบัติงานจึงถูกรั้งไม่ให้ตกสู่พื้นเบื้องล่างด้วยระยะตกที่สั้นที่สุด

      ระยะตกที่ปลอดภัยเมื่อใช้สายช่วยชีวิตส่วนบุคคลชนิดดึงกลับอัตโนมัติคำนวณจากระยะการล๊อคอัตโนมัติไม่เกิน 1.4 เมตร บวกค่าความปลอดภัย 0.6 เมตร เท่ากับ 2 เมตร โดยวัดระยะจากระดับเท้าที่ยืนทำงานจนถึงพื้นหรือสิ่งกีดขวาง ซึ่งจะช่วยให้ ช่างนั่งร้านทำงานได้อย่างปลอดภัย ที่ระดับความสูงของนั่งร้านไม่เกิน 6 เมตร

      ช่างนั่งร้าน จะต้องมีพื้นฐานความรู้ที่ถูกต้องและมีทักษะในเรื่องการสร้างพื้นที่ทำงานที่ปลอดภัย(Scaffolder’s Safe Zone) ในขณะทำการประกอบและการรื้อโครงสร้างนั่งร้าน  โดยควรผ่านการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานบนที่สูง และ การประกอบและรื้อถอนนั่งร้านจากหน่วยงาฝึกอบรมโดยวิทยากรและศูนย์ฝึกอบรมที่มีความน่าเชื่อถือและมีการจัดการอบรมตามมาตรฐานสากล

ตัวอย่างหลักสูตรการฝึกอบรม เช่น

  1. Working at Height for Authorized Person Training Course

คือหลักสูตรการฝึกอบรมการปฏิบัติงานบนที่สูงสำหรับผู้ปฏิบัติงาน โดยมีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐาน ANSI Z359.2 และ OSHA 1926.503

  1. Basic – Safe Erection & Dismantle of Scaffold Structure Training Course

(Reference to NASC - TG20 & SG4)

คือหลักสูตรการฝึกอบรม พื้นฐานการประกอบและการรื้อโครงสร้างนั่งร้าน โดยใช้หลักการของ Scaffolder’s Safe Zone ตามข้อกำหนดของ NASC – TG20 & SG4

 

บทความโดย  สุภกิณห์ แสงชนินทร์

วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค และ วิทยากร

แผนกผลิตภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคล

ศูนย์ฝึกอบรมความปลอดภัย 3เอ็ม ประเทศไทย

บริษัท 3เอ็ม ประเทศไทย จำกัด

 

Read 6478 times Last modified on วันพุธ, 23 มิถุนายน 2564 12:06

บทความที่ได้รับความนิยม