การทำกระเป๋าหนังเทียมในปัจจุบันพบในชุมชนขนาดเล็กที่รับงานจากผู้จ้างในการผลิตกระเป๋าหนังเทียมตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งผู้รับงานไปทำที่บ้านดังกล่าวถูกจัดให้เป็นแรงงานนอกระบบ ที่พบได้เป็นจำนวนมากในประเทศไทย โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ให้คำนิยามของแรงงานนอกระบบ หมายความว่า ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและมีงานทำแต่ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งเป็นนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน1 จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2563 พบว่า มีแรงงานนอกระบบจำนวน 38,403,766 ล้านคน
จากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแรงงานนอกระบบเป็นจำนวนแรงงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามลักษณะงานบางอย่างที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านนั้นอาจมีอันตราย โดยบุคคลเหล่านี้ยังขาดองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน ทำให้เขาเหล่านั้นอาจได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือโรคจากการประกอบอาชีพโดยที่พวกเขาไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับเขา ทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเขาทั้งอย่างรุนแรงและเรื้อรัง ดังเช่น กลุ่มชุมชนที่รับงานผลิตกระเป๋าหนังเทียม ซึ่งไม่ทราบว่าอะไรคือความเสี่ยงที่พวกเขากำลังเผชิญ และไม่ทราบว่าวิธีการปฏิบัติตนและป้องกันตนเอง กรณีได้รับอุบัติเหตุ หรือโรคจากการประกอบอาชีพดังกล่าว
หนังเทียม (Synthetic Leather) คือวัสดุสังเคราะห์แทนหนังที่เกิดจากการสังเคราะห์ทางเคมีของพลาสติกด้วยกระบวนการโพลีเมอร์ไรเซชั่น (Polymerization) ทำให้ได้พลาสติกที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป เช่น หนัง PU(Polyurethane) หรือ PVC (Polyvinylchloride) โดยเฉพาะหนังเทียม PU ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเครื่องใช้ที่หลากหลายชนิด เช่น ผลิตรองเท้า กระเป๋า สมุดไดอารี่ เข็มขัด ซองแว่นตา พวงมาลัยรถยนต์ เครื่องกีฬา และเบาะรถยนต์ ด้วยจุดเด่นด้านความยืดหยุ่น อ่อนนุ่ม คล้ายหนังแท้ ถ่ายเทอากาศได้ดี และแข็งแรงทนกว่าเกรดหนังเทียมทั่วไป
การประเมินความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ
ในการทำกระเป๋าหนังมีขั้นตอนการผลิตง่ายๆ แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน และสามารถประเมินความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การตัดแผ่นหนัง อันตรายหลักที่อาจพบได้ขณะทำงาน ได้แก่ การถูกกรรไกรที่มีความแหลมคมทิ่มแทง หรือใบมีดคัทเตอร์บาดมือ เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2 การทากาวเพื่อประกอบขึ้นรูป อันตรายหลักที่อาจพบได้ขณะทำงาน ได้แก่ การใช้กาวที่มีส่วนผสมของสารเคมีอันตราย จำพวกทินเนอร์ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานสามารถ
สัมผัสได้ทางผิวหนัง และอาจสูดดมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง
ขั้นตอนที่ 3 การประกอบแผ่นหนังและเจาะรูเพื่อเย็บขึ้นรูป อันตรายหลักที่อาจพบได้ขณะทำงาน ได้แก่ การนั่งเย็บกระเป๋าด้วยมือหรือจักรอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกหลักการยศาสตร์ นิ้วมือโดยกระแทกขณะใช้ค้อนตอกรูร้อยเชือก หรือถูกเข็มจักรอุตสาหกรรมหักทิ่มแทงตาและมือ
ขั้นตอนที่ 4 การประกอบอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น ซิป กระดุมเปิดปิดกระเป๋า และสายสะพาย เป็นต้น อันตรายหลักที่อาจพบได้ขณะทำงาน ได้แก่ นิ้วมือโดยกระแทกขณะใช้ค้อนตอกกระดุม นิ้วมือโดนทิ่มแทงด้วยเข็มของ
จักรอุตสาหกรรมขณะเย็บซิบกระเป๋า หรือนิ้วมือถูกบาดด้วยกรรไกรตัดด้ายส่วนเกิน เป็นต้น
นอกจากนี้อันตรายที่พบได้ทั่วไปจากการสังเกต ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานทำงานในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศไม่เพียงพอ แสงสว่างไม่เพียงพอ และมีท่าทางการทำงานทั้งในท่านั่งและท่ายืนที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บสะสมของกล้ามเนื้อและโครงสร้างของกระดูก อีกทั้งยังพบว่ามีผู้สูงวัยและเด็กเล็กในพื้นที่ปฏิบัติงานที่อาจได้รับการสัมผัสกับสารเคมีหรือหายใจเอาไอระเหยของสารเคมีเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และการซุกขนของเด็กเล็กอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ มีการกล่าวว่าพบสารจำพวกสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds: VOCs) จำพวกฟอร์มัลดีไฮด์ หรือฟอร์มามายด์ ในหนังเทียมหรือสีเคลือบต่างๆ2 ซึ่งเมื่อได้รับแสงแดดและความร้อนก็จะปล่อยสารพิษเหล่านี้ออกมาและเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางผิวหนัง ทางปาก และการสูดดมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ
แนวทางป้องกันและควบคุม
- ผู้ปฏิบัติงานควรศึกษาคู่มือการใช้งาน ข้อแนะนำ ข้อควรระวัง รวมถึงอันตรายเกี่ยวกับการทำงานก่อนเริ่มปฏิบัติงาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงาน เช่น สถานที่ทำงาน เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ ความร้อน ความเย็น สารเคมี ฝุ่น เสียงดัง แสงสว่าง และประกายไฟ เป็นต้น
- ควรตรวจสอบอุปกรณ์ เครื่องมือ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในงาน หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบปรับปรุงแก้ไข หรือซ่อมแซมโดยช่วงผู้ชำนาญ หรือหยุดการใช้งานทันที
- จัดวางและจัดเก็บอุปกรณ์ในการทำงานให้เป็นระเบียบและเหมาะสม เช่น การจัดวางสายไฟ และสารเคมีแยกจากที่พักอาศัย และติดป้ายเตือนความเป็นอันตราย
- สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐานและเหมาะสม เช่น สวมใส่ปลั๊กอุดหูขณะทำงานสัมผัสเสียงดัง ใส่ถุงมือถ้าต้องทำงานกับสารเคมี สวมใส่แว่นตานิรภัยเพื่อป้องกันเศษวัสดุกระเด็นเข้าตา ใส่หน้ากากกรองอากาศเพื่อป้องกันฝุ่นและไอระเหยของสารเคมี
- ปรับท่าทางการทำงานให้ถูกต้องเหมาะสม โดยมีการจัดท่านั่ง ท่ายืน ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับร่างกาย เพื่อลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช่น มีที่พักขาในการยืนทำงาน ใช้เก้าอี้ที่มีพนักพิงหลัง เปลี่ยนท่าทางระหว่างการทำงานที่เคลื่อนไหวซ้ำๆ มีระยะห่างระหว่างแขนกับชิ้นงานหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมไม่ให้เกิดการเอื้อมแขน หรือมีการหยุดพักระหว่างการทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เมื่อทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่เกิน 4 ชั่วโมง เพื่อผ่อนคลายร่างกาย
- ปรับปรุงสถานที่ทำงานให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก ควรเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อเพิ่มการระบายอากาศตามธรรมชาติ และควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการทำงาน
- ปรับปรุงสถานที่ทำงานให้มีแสงสว่างเพียงพอ โดยไม่ต้องเพ่งสายตาในการทำงานมากเกินไป แสงสว่างต้องไม่จ้าจนต้องหยีตา หากแสงสว่างในการทำงานไม่เพียงพอ ควรพิจารณาติดตั้งดวงไฟเพิ่มแสงสว่าง เป็นต้น
- ควรงดสูบบุหรี่ในสถานทำงานที่มีสารเคมีไวไฟ
- ควรตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงหากมีการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยง
- ควรออกกำลังกาย และทานอาหารที่มีประโยชน์ และสะอาด
- ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรนา 2019 ควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่น ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สวมหน้ากากป้องกัน และล้างมือบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำสะอาด
เอกสารอ้างอิง
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับแรงงานนอกระบบ ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2556
- ภัทรเวท ทรพิมพ์. (2555). VOCs: มหันตภัยเงียบจากเบาะหนังในรถยนต์. ยานยนต์สาร ปีที่ 11 ฉบับที่ 96 มีนาคม 2555. หน้า 7 - 10. เข้าถึงได้จาก http://www.thaiauto.or.th/contentimages/ajn/y11/jn_nopdf เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564